พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้กำชับหน่วยงาน กนป. ดูแล “ราคาปาล์มน้ำมัน” ให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ผันผวน จากการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซียและอินโดนีเซียระยะนี้ โดยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินมาตรการ กนป. ทั้งการส่งออกสต๊อกส่วนเกิน และเร่งรัดมาตรการสร้างมูลค่าเพิ่ม 8 ผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนไบโอดีเซลที่ใช้ลดลงเหลือ B5 ในช่วงวิกฤตพลังงาน
ด้าน พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ กล่าวว่า รองนายกฯได้มอบหมายให้ วิเคราะห์จัดทำข้อเสนอมาตรการเร่งด่วน ขับเคลื่อนปาล์มน้ำมันสู่พืชเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มแห่งอนาคตของไทย และสร้างสมดุลโครงสร้างราคาตลอดห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานที่เป็นธรรมทั้งระบบและรายงานผลดำเนินการ กนป. ปี 2563 ได้ผลักดันเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล B10 เป็นดีเซลมาตรฐาน และส่งออกสต๊อกส่วนเกินในปี 2564 ได้สูงถึง 6 แสนตันเศษ
โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ ยอดส่งออกแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นราว 7 แสนตันเศษ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลที่มีการให้ผลักดันมาตรการเพิ่มมูลค่า “น้ำมันปาล์มดิบ” แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 8 ชนิด ที่สามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 80 %
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจัดสัมมนาสร้างการรับรู้และชักชวนนักลงทุนไทยดันผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน 8 ชนิด ส่งออกสู่ตลาดโลกและที่สำคัญผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลาง SAF ของภูมิภาคในปี2566
จากผลงานการกำกับดูแลนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประวิตร อย่างต่อเนื่อง 8 ปีที่ผ่านมา ที่ชาวสวนปาล์มทั่วประเทศชื่นชมผลงานรัฐบาล รักษาระดับราคาปาล์มทะลายให้สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจของปาล์มน้ำมันเติบโตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 ราคาเฉลี่ยทั้งปีที่ 3.11 บาทต่อกิโลกรัม ปี2563 เพิ่มเป็น 4.80 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2564 เพิ่มเป็น 6.66 บาทต่อกิโลกรัม และ ปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มถึง 7.50 บาทต่อกิโลกรัม
“ยังมีมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่คาดว่า มีปริมาณมากถึง 1.5 ล้านตัน ทำให้ในช่วง 4 ปีระหว่างปี 2562 – 2565 นี้ สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้อีกประมาณ 6 – 7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลที่สามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ในช่วงเศรษฐกิจผันผวนระยะนี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยยังเผชิญปัจจัยท้าทายหลายด้าน อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (หนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันปาล์มหลักของโลก) ที่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังโดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืช (ซึ่งรวมถึงปาล์มน้ำมัน) ที่ปลูกในพื้นที่ที่มีคาร์บอนสูงจนเป็น “ศูนย์” ในปี 2573 ส่งผลให้เกิดกระแส “Zero Palm Oil” ในภาคขนส่งของยุโรป และการให้ความสำคัญกับสุขภาพยังทำให้เกิดกระแส “Palm Oil Free” ในสินค้าอาหารต่าง ๆ ในยุโรป เนื่องจากน้ำมันปาล์มถูกมองว่าเป็นแหล่งไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) และมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นๆ