จะมาพูดถึงเรื่องของ “มัน” มันที่ว่าก็คือ “มันสําปะหลัง” พืชเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศไทย ที่พบการปลูกทั่วไปในทุกภาค โดยเฉพาะในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ
หากจะพูดถึงประเทศไทยในในเวทีการค้ามันสำปะหลังของโลกวลีที่ว่า “ประเทศไทย… ไม่แพ้ชาติใดในโลก” เห็นจะอธิบายได้ชัดเจนที่สุด ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นําในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกมันสําปะหลังของโลก ที่สำคัญ ไทยเรามีผลผลิต มันสำปะหลัง มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และ ‘ยืนหนึ่ง’ ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก
ไทยเราเป็นเบอร์หนึ่งผู้ส่งออก แล้วมันสำปะหลังไทยเราส่งออกไปไหน เชื่อว่า…ท่านผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ ตลาดเป้าหมายการส่งออกของไทย
ท่านทราบหรือไม่ว่า…. ‘จีน’ เป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ผ่านมา ‘ประเทศไทย’ เกาะเก้าอี้ประเทศแหล่งนำเข้ารายใหญ่ของจีนอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด แม้ว่ามันสำปะหลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีน(รองจากอ้อย) แต่การผลิตมันสำปะหลังในจีนส่อแววหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิต
โดยพื้นที่จีนตอนใต้อย่าง “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ถือเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังและแอลกอฮอล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ คิดเป็นราว ๆ 60% ของทั้งประเทศ โดยโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ เมืองกุ้ยก่าง และเมืองฉงจั่ว และมีการนำเข้าจากเมืองท่าเป๋ยไห่ เมืองท่าชินโจว (นำเข้าจากไทย) และเมืองกุ้ยก่าง ซึ่งมีท่าเรือแม่น้ำเชื่อมจากนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน แอลกอฮออล์ และอาหารสัตว์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดจีนขาดแคลนวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่าช่วงหลายปีมานี้ กำลังการผลิตแป้งสตาร์ชของจีนลดลงเฉลี่ยมากกว่า 30% และมีการนำเข้าเฉลี่ยปีละกว่า 2 ล้านตัน ความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศที่ ‘พุ่ง’ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวมันสด มันเส้น รวมถึงแป้งดิบและแป้งดัดแปร หรือโมดิฟายด์สตาร์ช สวนทางกับปริมาณผลผลิตในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง นำมาซึ่ง ‘โอกาส’ ของผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศจีน ในปีที่ผ่านมา มีดังนี้
การนำเข้ามันสำปะหลังแห้ง (พิกัด 07141020) หรือพวกมันเส้น ปริมาณ 5.51 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,918 ล้านหยวน ทั้งนี้
– 5 มณฑลที่นำเข้ามันสำปะหลังแห้งมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลอันฮุย เขตฯ กว่างซีจ้วง และกรุงปักกิ่ง
–5 แหล่งนำเข้ามันสำปะหลังแห้งที่สำคัญ ได้แก่ ไทย (มูลค่านำเข้า 8,780 ล้านหยวน สัดส่วน 88.48%) เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และแทนซาเนีย
การนำเข้าสตาร์ชจากมันสำปะหลัง (พิกัด 11081400) ปริมาณ 3.48 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 10,820 ล้านหยวน ทั้งนี้
–5 มณฑลที่นำเข้าสตาร์ชจากมันสำปะหลังมากที่สุด ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน กรุงปักกิ่ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลซานตง
–5 แหล่งนำเข้ามันสำปะหลังที่สำคัญ ได้แก่ ไทย (มูลค่านำเข้า 7,977 ล้านหยวน สัดส่วน 73.72%) เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา
ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า… จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แล้วทำไมไม่ปลูกเอง นั่นก็เพราะว่าการปลูกและเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ (ต้นทุนค่าแรงสูง แรงจูงใจต่ำ) ไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน (เกษตรกรจึงนิยมหันไปปลูกผลไม้ ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงกว่า) การใช้ประโยชน์จาก ‘ของเหลือ’ ในกระบวนการผลิตมันปะหลังยังทำได้ไม่สมบูรณ์แบบและก่อมลพิษสูง (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กากเหลือทิ้ง เศษฝุ่นละออง น้ำเสียจากกระบวนการผลิต) รวมถึง ‘ภาษีศูนย์’ จากความตกลง China-ASEAN FTA (แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อยู่ในอัตรา 9% สำหรับหัวมันดิบและมันเส้น และอัตรา 13% สำหรับแป้งสตาร์ช) ทำให้จีนเน้นนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
โอกาสย่อมมากับความท้าทาย โจทย์หนึ่งที่ชวนให้ธุรกิจมันสำปะหลังไทยต้องครุ่นคิดและติดตามสถานการณ์ในตลาดจีน คือ “เรา…จะรักษาฐานที่มั่นในตลาดจีนไว้ได้นานแค่ไหน” (defending market share) เมื่อ ‘พระรอง’ อย่างเวียดนามและกัมพูชาอยากจะขยับชั้นมาเป็น ‘พระเอก’ ในตลาดจีน สถานการณ์ที่เพื่อนบ้านเดินเกมรุก ชิงส่วนแบ่งในตลาดจีน “จะทำอย่างไร… เมื่อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของผู้ท้าชิงกำลังตีตื้นทั้งในเรื่องคุณสมบัติและราคาที่ใกล้เคียงหรืออาจจะถูกกว่าผู้นำตลาดอย่างเรา”
อย่างเมื่อปีที่แล้ว กัมพูชาได้ชูธงนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อกระตุ้นการผลิตและส่งออก โดยตั้งเป้าขยายการส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นด้วย และกรณีกลุ่มบริษัท Guangxi Rural Investment Group (广西农村投资集团) กับบริษัทเกษตรของกัมพูชา เพิ่งปิดดีลสั่งซื้อมันสำปะหลังเส้นของกัมพูชา ปี 2565 ที่จำนวน 4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 700 ล้านหยวน ซึ่งเป็นดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างกรมพาณิชย์กว่างซีกับสำนักงานส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา
แถม “จีนเองก็คิดจะเป็น ‘ผู้เล่น’ ในตลาดมันสำปะหลังด้วย” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมของตนมากยิ่งขึ้น อันที่จริงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว State Farm ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของกว่างซี(จีน) ได้เริ่มเข้าไปลงทุนโปรเจกต์มันสำปะหลังและแป้งสตาร์ชในเวียดนาม ยังมีบริษัทจีนรายใหญ่รายน้อยที่เข้าไปทำ contract farming และส่งนักวิจัยออกไปร่วมปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในเวียดนาม สปป.ลาว และอินโดนีเซียด้วย
นอกจากสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนำเข้าจากกรอบ China-ASEAN FTA แล้ว ความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเพื่อนบ้านระหว่างจีน(กว่างซีและยูนนาน)กับเวียดนาม ทำให้ช่องทาง ‘การค้าชายแดน’ เป็นอีกความท้าทายของการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไทยเพราะอัตราภาษีการค้าชายแดน (ที่ต่ำกว่าภาษี VAT) หอมหวนดึงดูดใจสำหรับผู้นำเข้าจีนไม่น้อย อย่างในจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนในอำเภอระดับเมืองตงซิง (ตรงข้ามกับจังหวัด Quang ninh เวียดนาม โดยมีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ) ในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด-19 แต่ละวันจะเห็นการลำเลียงแป้งสตาร์ชเป็นกระสอบ ๆ ด้วยเรือหางยาวข้ามฝากและรถบรรทุกข้ามสะพานทุ่นลอยจากฝั่งเวียดนามมาขึ้นที่เมืองตงซิงเป็นจำนวนมาก
อย่างที่ทราบกันดีว่า…มันสําปะหลังเป็นสินค้าเกษตรที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูงมาก การดำเนินนโยบาย “Go Green” ของรัฐบาลจีน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย ในปี 2563 ท่าเรือในจีนเริ่มกวดขันเรื่องรูปแบบการขนส่งมันสำปะหลังมากขึ้น (อาจใช้ไม้แข็งในอนาคต) โดยแนะให้ผู้ค้าเปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์แทนการขนส่งแบบสินค้าเทกอง (bulk) ซึ่งการขนส่งดังกล่าวจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การที่หัวมันดิบและมันเส้นของไทยมักพบปัญหาการปะปนของดินหินและฝุ่นละอองจำนวนมาก จีนเคยประกาศห้ามการนำเข้ามันเส้นจากไทยมาแล้ว ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้าจีนบางส่วนหันไปนำเข้ามันเส้นสับมือจากกัมพูชาและเวียดนามซึ่งมีฝุ่นละอองน้อย และมีมาตรการทำความสะอาดที่ดีกว่า
ดังนั้นเกษตรกรไทยควรเร่งหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต และลดฝุ่นละออง รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังแปรรูปให้มีความหลากหลายในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าในตลาดจีนมากขึ้น และช่วยลดแรงปะทะจากการแข่งขันด้านราคาและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดส่งออกมันสําปะหลังและแป้งสตาร์ชของไทย
นอกจากนี้ นักลงทุนไทยสามารถมองหาลู่ทางพัฒนาความร่วมมือด้านการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังกับนักลงทุนจีนในประเทศไทยเพื่อป้อนตลาดจีน หรือนักลงทุนไทยเลือกขยายฐานการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรและแรงงานถูกเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปจีนก็ได้เช่นกัน
บทความโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง