ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า จากกรณีที่มีความห่วงใยว่า การเกิดช่วงเวลาสุญญากาศทางกฎหมายหลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา จะทำให้เกิดผู้ที่ได้รับผลกระทบจนต้องเข้าบำบัดรักษาทั่วประเทศนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการรวบรวมข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศ (บสต.) ได้ปรากฏผลความจริงดังนี้
ประการแรก นับตั้งแต่ได้มีการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ตั้งแต่ต้นปี 2562 ได้ส่งผลทำให้ “มีผู้ที่เข้าบำบัดรักษา”ยาเสพติดทั่วประเทศในปีแรก เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2561 กล่าวคือ ในปี 2561 จำนวนจาก 248,588 ราย แต่พอในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาเป็น 263,730 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในแทบทุกประเภท ได้แก่ กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน กระท่อม และยาเสพติดอื่น ๆ โดยการบำบัดรักษาส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 82.7- 87.7 คือยาบ้า/ยาไอซ์
แต่ภายหลังจากเวลาผ่านไปหลังปี 2562 พบว่า ตัวเลขผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ลดลงเหลือ 156,632 ราย และในปี 2565 จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ลดลงเหลือ 80,938 ราย
โดยภาพรวมแล้วการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศถึงปี 2565 ไม่เพียงลดลงน้อยกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกใช้กัญชาทางการแพทย์ในวงกว้างเท่านั้น แต่ยังลดลงน้อยกว่า 2561 ซึ่งเป็นปีก่อนการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์เสียอีก
ประการที่สอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องเสมือนว่าสังคมเกิดความโกลาหลวุ่นวายด้วยได้รับผลกระทบจากกัญชาอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นใน ช่วงสุญญากาศทางกฎหมายในระหว่างการรอ พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…
แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำนวนผู้ที่ได้รับการบำบัดระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาปลดล็อก(สุญญากาศ) ผ่านไปแล้ว 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีผู้ที่ใช้กัญชาเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดจำนวนทั้งสิ้น 33 ราย ซึ่งน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 1 เดือนก่อนปลดล็อกที่มีจำนวนทั้งสิ้น 180 รายหรือคิดเป็นการ “ลดลง” ในการที่ผู้ป่วยกัญชาซึ่งได้รับบำบัดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 81.66
และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากกราฟแล้วยัง พบว่าเป็น เดือนมิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2565 เป็น 1 เดือนที่ผู้ใช้กัญชาได้รับการบำบัด “น้อยที่สุด” นับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 เสียด้วยซ้ำ
สะท้อนให้เห็นว่าในความเป็นจริงมีการใช้กัญชาใต้ดินจำนวนมากอยู่แล้ว เพียงแต่สื่อมวลชนไม่ได้ไปขยายผลนำเสนอข่าวผลกระทบก่อนหน้านี้เท่านั้น โดยกัญชาเป็นพืชที่สามารถปลูกและใช้ช่อดอกได้ทันทีในครัวเรือนตั้งแต่ “ก่อน” การปลดล็อกในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 แล้วคนจำนวนหนึ่งที่ใช้กัญชาเกินขนาดจนถึงขั้นมีอาการที่ต้องได้รับการบำบัดส่วนใหญ่จะไม่กลับไปมีอาการอีก ด้วยเพราะกฎธรรมชาติของกัญชา หากใช้มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจนถึงขั้นต้องได้รับการบำบัด เช่น หวาดกลัว ตื่นตระหนก ความดันตกหัวใจเต้นเร็ว ฯลฯ จะมีความระมัดระวังและไม่ทำซ้ำในพฤติกรรมเดิมอีก บางรายถึงขั้นกลัว เข็ดขยาด หรือถึงขั้นเลิกการใช้กัญชา
นอกจากนั้นผู้ใช้กัญชาส่วนใหญ่จะนอนหลับหลังการใช้กัญชา กลายเป็นข้อจำกัดในการใช้กัญชาเกินขนาดซ้ำๆหลายครั้ง จึงต่างจากยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆ ด้วยกฎกัญชาข้างต้นจึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเสพติดกัญชาอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก
ประการที่สาม จากการสํารวจครัวเรือนระดับชาติเพื่อประมาณการจํานวนผู้ใช้สารเสพติดในปี พ.ศ. 2562 พบว่าประเทศไทย ในรอบ 1 ปี 2562 ประชากรที่เคยใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งมีจำนวน 1,966,827 ราย เรียงลำดับจากมากที่สุด คือ กัญชา 668,157 ราย, ยาบ้า 652,873 ราย, กระท่อม 490,704 ราย, และยาไอซ์ 372,294 ราย, น้ำต้มใบกระท่อม 221,300 ราย, ยาอี/ยาเลิฟ 220,777 ราย, ยาเค 126,453 ราย, สารระเหย 101,875 ราย, ผงขาว/เฮโรอีน 93,101 ราย, โคเคน 32,523 ราย
แต่ในขณะที่ “กัญชา” และ “กระท่อม รวมน้ำกระท่อม” ได้มีการใช้มากที่สุดในปี 2562 กลับมี “สัดส่วน” ผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดน้อยกว่ายาบ้า/ยาไอซ์, น้อยกว่าเฮโรอีนอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่ากัญชา และกระท่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนต้องได้รับการบำบัดน้อยกว่ายาบ้า ยาไอซ์ และเฮโรอีนอย่างชัดเจน
โดย “ยาบ้า” และ “ยาไอซ์” มีผู้ใช้รวมกันในรอบ 1 ปี 2562 ประมาณ 1,025,167 คน มีผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจากการใช้ “ยาบ้า” และ “ยาไอซ์” ในปี 2562 จำนวน 212,276 ราย คิดเป็นสัดส่วนของผู้ที่ต้องรับการบำบัด “ร้อยละ 20.70” ของประมาณการจำนวนผู้ที่ใช้ยาบ้าและยาไอซ์ในรอบ 1 ปี
“เฮโรอีน” มีผู้ใช้ในรอบ 1 ปี 2562 ประมาณ 93,101 คน มีผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจาการใช้ “เฮโรอีน” ในปี 2562 จำนวน 4,855 คน ] คิดเป็นสัดส่วนของผู้ที่ต้องรับการบำบัด “ร้อยละ 5.21” ของประมาณการจำนวนเฮโรอีนในรอบ 1 ปี
“กัญชา” มีผู้ใช้ในรอบ 1 ปี 2562 ประมาณ 668,157 คน[2] มีผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจากการใช้กัญชาในปี 2562 จำนวน 18,180 ราย[1] คิดเป็นสัดส่วน “ร้อยละ 2.7” เทียบกับจำนวนผู้ที่ใช้กัญชาในรอบ 1 ปี
“กระท่อม” และ “น้ำต้มใบกระท่อม” มีผู้ใช้ในรอบปี 2562 รวมกัน ประมาณ 712,004 ราย โดยมีผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจาการใช้กระท่อม และ 4 x 100 ในปี 2562 จำนวน 5,389 รายคิดเป็นสัดส่วนของผู้ที่ต้องรับการบำบัด “ร้อยละ 0.75” ของประมาณการจำนวนผู้ที่ใช้กระท่อมในรอบ 1 ปี
ดังนั้นสัดส่วนผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดกัญชาและกระท่อมนั้นอยู่ในระดับที่น้อยมาก โดยกัญชา ไม่เกินร้อยละ 2.7 กระท่อมไม่เกินร้อยละ 0.75
โดยเฉพาะพืช “กระท่อม” นั้นได้เกิด “สุญญากาศทางกฎหมาย” นานเกือบ 1 ปีแล้ว มีการขายและเร่ขายเป็นการทั่วไป เป็นช่วงเวลา “เสรีกระท่อม” ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาที่ต้องได้รับการบำบัดจากการใช้กระท่อมน้อยลงอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านราคาใบกระท่อมก็มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ยิ่งเป็นการยืนยันว่าการเสพติดกัญชาและกระท่อมนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก
ประการที่สี่ จากโครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยคณะวิจัยจากหลายสถาบันวิชาการ เผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 64 โดยเว็บไซต์คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งจากการเก็บข้อมูลช่วงเวลาเดือนกันยายน 2562- กุมภาพันธ์ 2563 พบข้อมูลสำคัญดังนี้
ผลการศึกษายืนยันว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์จากผู้ค้าตลาดมืดร้อยละ 54.5 โดยเฉพาะที่ภาคกลางมีการใช้กัญชาจากตลาดมืดมากถึงร้อยละ 77.8 และการใช้กัญชาในภาคใต้จากพ่อค้าตลาดมืดมากถึงร้อยละ 80.4 โดยผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้รับยากัญชาจากคลินิกแพทย์แผนปัจจุบัน และ คลินิกแพทย์แผนไทยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ 7.6 เท่านั้น
ซึ่งหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์คือ “กัญชาใต้ดิน” สอดรับกับผลการสำรวจของนิด้าโพลระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565 ที่ยืนยันว่ามีประชาชนเคยใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วมาถึงร้อยละ 21.06 ของกลุ่มประชากรร้อยละ 32.98 ที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว
ดังนั้นหากพิจารณาจากกลุ่มสำรวจของประชากรประมาณ 50 ล้านคน หมายความว่าในกลุ่มประชากรที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์มีมากประมาณ 3.5 ล้านคน ย่อมยืนยันได้ว่ามีผู้ที่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จำนวนมาก และมีอาการข้างเคียงที่ต้องถึงขั้นได้รับการบำบัดคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย และจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองดูแลในระหว่างการรอ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง มิให้ต้องเดือดร้อนลงทะเบียนหรือถูกจับรีดไถในระหว่างนี้
อย่างไรก็ตามความจริงก็ได้ปรากฏต่อมาว่าการใช้ช่อดอกเพื่อนันทนาการนั้นล้วนแล้วแต่เป็น “กัญชาใต้ดินซึ่งมีอยู่แล้ว” ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก เพราะกัญชาไม่สามารถผลิตช่อดอกได้ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดการรักษาบำบัดไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ประการใดหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา
แต่การที่นำกัญชาใต้ดินซึ่งมีอยู่แล้วมาปรากฏอยู่บนดินให้เห็นนั้น ได้ทำให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ได้ระดมออกมาตรการในการคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และการสูบกัญชาในที่สาธารณะ ฯลฯ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ ที่ได้ส่งสัญญาณและเร่งให้ความรู้กับประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้กัญชาให้ดีกว่าช่วง “ก่อน” การปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ด้วย
ประการที่ห้า สำหรับความน่าเป็นห่วงสำหรับการห้ามบริโภคกัญชาในขณะนี้ ได้ลุกลามกระทบ “เกินสมควร” ไปถึงผลิตภัณฑ์จากกัญชงที่มีความปลอดภัยสูง หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนอาหาร อาหารเสริมจากองค์การอาหารและยาที่มีความปลอดภัยสูงหรือสารสกัดซีบีดีจากกัญชงที่มีความปลอดภัยสูงและมีประโยชน์มากนั้นกลับขายได้ลดลง
เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้นจะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเพื่อแลกกับการรณรงค์เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบางในสังคมให้มีความตระหนักต่อการใช้กัญชาเกินขนาดในช่วงการรอพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง โดยหวังว่าหลังจากได้มีการตราพระราชบัญญัติกัญชา กัญชงแล้วสถานการณ์น่าจะดีขึ้นกว่านี้เป็นลำดับ
จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างไม่ต้องมีความกังวลใจใด ๆ ในระหว่างนี้ และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้การบำบัดรักษาจากการใช้กัญชาลดลงอย่างมากเช่นกัน