กรมการข้าว ชูการทำนาแบบฟื้นฟู ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง  

กรมการข้าว ชูการทำนาแบบฟื้นฟู ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์พื้นเมือง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เมื่อครั้งอดีตประชากรโลกประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้การทำเกษตรกรรมส่วนใหญ่หันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยว มุ่งเน้นที่ผลผลิตสูง ซึ่งมีการนำสารเคมีมาเป็นปัจจัยในการผลิต จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก 

และในเวลาเดียวกันก็ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลอดจนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ เกิดภาวะโลกร้อน ที่ถือเป็นปัญหารุนแรงระดับโลกในปัจจุบัน ดังนั้นในปัจจุบัน การทำเกษตรฟื้นฟูจึงเป็นแนวทางที่รับการยอมรับ เพื่อที่ลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า การทำนาแบบฟื้นฟู หรือการทำนาอินทรีย์ มุ่งเน้นการผลิตเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้การเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสังเคราะห์ และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์พื้นเมือง และระวังการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไป อีกทั้งยังช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน การกักเก็บน้ำ การกักเก็บคาร์บอน ตลอดจนการดำรงวิถีชีวิตในชนบทอย่างยั่งยืน โดยภาครัฐได้มีการขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ผ่านหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ชื่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (Organic Thailand) โดยในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ มีการผลิตและตรวจสอบรับรองครอบคลุมในทุกจังหวัด ซึ่งกรมการข้าวเป็นหน่วยตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ มีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน

FF5EF31B C1F8 4582 AD65 5BF183402C77

“นโยบายการทำนาแบบฟื้นฟู ควรเน้นหลักการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าใจถึงผลดีของการทำนาในระยะยาว เพราะเมื่อเกษตรกรเข้าใจผลกระทบในเชิงบวกกับเกษตรกรรมยั่งยืนจะเกิดทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพ ในมิติที่มีส่วนพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรการเกษตร และสังคมวิทยาชนบท หลีกเลี่ยงนโยบายการสนับสนุนปัจจัยการผลิต แต่สนับสนุนองค์ความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น เทคโนโลยีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ใช้เองในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การจัดทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน เป็นต้น นอกจากนั้น ในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการแปรรูปสินค้าข้าวอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า ควบคู่กับการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงประจำถิ่น เช่น ข้าวอัตลักษณ์ และข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าว