“มันหวานญี่ปุ่น”หรือ “มันเทศญี่ปุ่น” ปัจจุบันถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ลงทุนหลักพัน แต่สามารถสร้างรายได้หลักหมื่นได้
มันหวานญี่ปุ่น (Japanese Sweet Potato) เป็นมันเทศที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเนื้อแน่น เหนียวนุ่มละเอียด และรสชาติหวานอร่อยกว่า มันเทศไทย
มีสีเปลือกและสีเนื้อหัวแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น สีเหลือง สีม่วง และสีส้ม เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ทนแล้งได้ดีสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ได้แก่ แอนโธไซยานิน (สารสีม่วง) และแคโรทีนอยด์ (สารสีเหลือง, ส้ม) ซึ่งกำลังเป็นกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีการปลูก “มันหวานญี่ปุ่น” มากขึ้น เนื่องจากขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 40 – 45 บาท (ราคาหน้าสวน)
ประกอบกับ มันหวานญี่ปุ่น เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้ปลูกในช่วงฤดูแล้งทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชใช้น้ำน้อยโดยใช้น้ำ 750 ลบ.ม./ไร่/ฤดูกาลผลิต ในขณะที่ข้าวใช้น้ำ 1,000 – 1,500 ลบ.ม./ไร่/ ฤดูกาลผลิต
และเนื่องจากว่า “มันหวานญี่ปุ่น” เป็นพืชที่สร้างหัวในดิน ดังนั้นดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูก มันหวานญี่ปุ่น ควรเป็นดินที่มีโครงสร้างร่วนซุย มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี
ส่วนการเตรียมดิน ควรมีการไถพลิกตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อกำจัดวัชพืช ไข่และตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืช และโรคพืชที่สะสมอยู่ในดิน และควรมีการไถพรวนดินให้ร่วนซุย ยกร่องแปลงขึ้นสูงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่
สำหรับ “ยอดพันธุ์” ที่จะนำมาปลูกลงแปลง ควรได้จากต้นที่มีอายุไม่น้อยกว่า 45 วัน เนื่องจากเป็นยอดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ มีการสะสมอาหารเต็มที่แล้ว เวลานำไปปลูกจะแข็งแรงและเจริญเติบโตได้เร็ว ยอดพันธุ์ควรมีความยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร และควรแช่โคนยอดพันธุ์ในน้ำทิ้งไว้เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อกระตุ้นให้รากแตกออกมาก่อนที่จะนำไปปลูก การปลูกควรมีการใช้ไม้ปลายแหลมแทงนำร่องไปก่อน แล้วจึงนำยอดพันธุ์ปักลงไปตาม เพื่อป้องกันการบอบช้ำของโคนยอดพันธุ์ซึ่งจะทำให้ยอดพันธุ์เน่าตายได้ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ปลูกเป็นแถวเดี่ยว ซึ่งจะทำให้ มันหวานญี่ปุ่น สร้างหัวได้ดี เต็มประสิทธิภาพรอบทิศทางของพุ่มต้น
หลังจากปลูกไปแล้ว 2 เดือน ซึ่งจะเป็นระยะที่ มันหวานญี่ปุ่น เริ่มสร้างหัว ควรมีการตลบเถาขึ้นบนแปลงเพื่อป้องการสร้างหัวตรงบริเวณข้อที่เลื้อยสัมผัสกับดิน ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตของเถาหลักไม่ได้คุณภาพ มีขนาดหัวเล็ก ไม่สมบูรณ์และควรมีการใส่ปุ๋ยบำรุงหัวในระยะนี้ด้วย เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เป็นต้น
ควรมีการป้องกันกำจัดด้วงงวงมันเทศด้วยชีวภัณฑ์ซึ่งมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อราเมตาไรเซียม ช่วงที่มีการสร้างหัว (อายุ 2 เดือนหลังปลูก) และก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน โดยใส่ไปพร้อมกับการให้ปุ๋ย ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการเข้าทำลายของด้วงมันเทศได้ผลดี