“ทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้” ตัดขายแล้ว สองวันแรก ชาวสวนส่งผลผลิต มีทุเรียนหมอนทองคุณภาพเกรด AB หนามเขียวเกินกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตจากสมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถพัฒนาทั้งคุณภาพ และศักยภาพต่อรองราคาขายกับผู้รับซื้อได้ราคาดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา ในราคา 110 บาทต่อกิโลกรัม ทำรายได้รับเงินล้านไปแล้ว
“ปีนี้ผลผลิตทุเรียนของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ออกเร็วกว่ากำหนดประมาณ 2 สัปดาห์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ จากจังหวัด ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ส่งทุเรียนให้ผู้รับซื้อเฉพาะสองวันแรกประมาณ 18,017 กิโลกรัม เป็นเกรดคุณภาพขายได้กิโลกรัมละ 103-110 บาท หรือกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ ชาวสวนพอใจ มีรายได้มากกว่าปีที่ผ่านมา แม้ผลผลิตลดลงเนื่องจากช่วงทุเรียนออกดอกมีฝนตกชุก ทำให้บางส่วนไม่สามารถโตเป็นผลได้” นายศรันย์ สุขประวิทย์ หัวหน้าโครงการทุเรียนคุณภาพ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริกล่าว
วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นวันแรกที่ผลผลิตทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพเริ่มตัดมาส่งขาย และเป็นปีแรกที่ “มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ “สนับสนุนให้เกษตรกรทุเรียนคุณภาพรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่ทำโครงการฯ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกันเอง และการต่อรองราคากับผู้รับซื้อทุเรียนโดยตรงจนได้ราคาตามที่ต้องการ ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้กับเกษตรกรด้วย
การขายทุเรียนคุณภาพปีนี้ เกษตรกรจะส่งตรงให้กับผู้รับซื้อที่ถือว่าเป็น “คู่ค้าพันธมิตร” ไม่ต้องผ่านตัวแทน หรือพ่อค้าคนกลางจะทำให้ได้ราคาดีกว่าเดิม เป็นรูปแบบใหม่ในการขายของเกษตรกรที่ใช้การจัดตั้งตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพเจรจาตกลงเรื่องราคาจนเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่ายทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพก็สามารถประมาณการผลผลิตที่ได้จากสมาชิกมาส่งให้ทำให้ผู้รับซื้อสามารถทราบปริมาณที่แน่นอนของทุเรียนคุณภาพได้
“ชาวสวนทุเรียนพอใจกับราคาที่ได้ บอกว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะการสนับสนุนให้ชาวสวนทำทุเรียนคุณภาพ สมาชิกที่มีความพยายามก็ศึกษาเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนวิถีต่างจากที่เคยทำก่อนเข้าร่วมโครงการฯแม้ตอนแรกอาจยังไม่เข้าใจ และต้องทำงานหนักกว่าเดิมแต่ผลที่ได้ก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อยที่ได้ลงไป”
สองวันแรกที่เกษตรกรมาส่งทุเรียนเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จาก ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ราคาคัดเกรดคุณภาพ AB หนามเขียว กิโลกรัมละ 110 บาท เกรดรองลงมากิโลกรัมละ 103-105 บาท รับซื้อทุเรียนไปแล้ว 18,017 กิโลกรัม เป็นทุเรียนหมอนทองคุณภาพ เกรด AB 11,066 กิโลกรัม มากกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมีตกเกรดบ้างก็ยังขายได้เพราะมีคนรับซื้อจำนวนมาก เบื้องต้นสองวันแรกเกษตรกรรับเงินไปแล้ว1,525,820 บาท หลังจากนี้ก็จะมีทุเรียนมาส่งให้ผู้รับซื้ออย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะหมดฤดูกาล
นายดอเลาะ แนลี อายุ 59 ปี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สมาชิกวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพคลองใหม่ หมู่ 5 ตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ปี 2562 ทุเรียนที่นำมาส่งขายปีนี้ได้ราคาดีมากกว่าปีที่ผ่านมา และจำนวนผลผลิตทุเรียนก็เพิ่มขึ้นวันแรกขายได้ประมาณ 100 กิโลกรัม รับเงินประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท แม้จำนวนไม่ได้มากกว่าเกษตรกรรายอื่น แต่คุณภาพทุเรียนที่เป็นหนามเขียวทำได้เพิ่มขึ้น ทำให้ขายได้ราคาดี
สวนทุเรียนของนายดอเลาะมีประมาณ 3 ไร่ ปลูกมาประมาณ 30 ปี ที่เหลืออีกประมาณ 3 ไร่ปลูกยาง และพืชอย่างอื่นผสมผสานกัน เมื่อก่อนขายทุเรียนได้ราคาประมาณ 30 บาท ต่อกิโลกรัม แต่พอเข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ ได้เรียนรู้การดูแล บำรุง รักษาทุเรียนตั้งแต่ต้น จนถึง ออกดอก ออกผล ต้องปรับตัวทำสวนยากขึ้นบ้าง แต่ก็ทำให้สามารถทำทุเรียนออกมาได้ผลผลิตที่ดี ทั้งคุณภาพ และปริมาณ
“จากนี้ก็จะมีทุเรียนมาส่งขายอีก เพราะยังอีกหลายลูกที่ยังไม่ได้ตัด ตั้งรอให้ผลสุกตามกำหนดก่อน เพราะยังไม่หมดฤดู ตอนนี้ก็เริ่มปลูกทุเรียนใหม่เพิ่ม แทนต้นที่ตายไป เพราะน้ำท่วม รากเน่า ประมาณ 7 ปีก็จะเริ่มออกผลมาจำหน่ายได้ เชื่อมั่นว่าทุเรียนรุ่นต่อ ๆไป จะออกมาดีเพราะการดูแลที่ดีกว่าเดิมต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องทุเรียนเลย”
นายมะนาเซ มะเราะหะแม เกษตรกรกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพกรงปินัง หมู่ 3 ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ปลูกทุเรียนมากว่า 35 ปี พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ที่เหลือเป็นสวนยางประมาณ 15 ไร่ ก่อนเข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพปี 2563 ขายทุเรียนได้ราคาไม่สูงได้ราคาเต็มที่ก็กิโลกรัมละ 80 บาท ปีนี้คัดทุเรียนส่งขายร่วมกับทางกลุ่มเป็นเกรดคุณภาพ AB ได้ราคาดีมากสูงกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม เพียงแต่ผลผลิตปีนี้น้อยกว่าเดิม เนื่องจากมีฝนตกชุกในช่วงที่ทุเรียนออกดอก
สองวันแรกที่นำทุเรียนมาส่งได้ประมาณ 500 กิโลกรัม รับเงินไปแล้วมากกว่า 5 หมื่นบาท ยังเหลือทุเรียนที่ยังตัดส่งได้อีกกว่า 500 กิโลกรัม ทำให้มั่นใจว่าฤดูกาลนี้จะทำรายได้จากสวนทุเรียนเป็นเงินแสนกว่าบาทแน่นอน ผลผลิตทุเรียนก่อนร่วมโครงการ และหลังเข้าร่วมโครงการดีขึ้นมากปีนี้ยิ่งได้ราคาดีมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะดูแลทุเรียนตามขั้นตอนที่ได้เรียนรู้มา ส่วนตัวเองก็ทยอยปลูกทุเรียนใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และใช้วิธีการดูแลตามที่ได้เรียนรู้มาตลอด แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ยังไม่รู้จักวิธีการ ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก หากตั้งใจทำ ในปีถัดไปก็จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ได้คุณภาพเพิ่มขึ้น