จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 8 หน่วยงานของรัฐ ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ “กัญชา กัญชง” ในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรืออันตราย พบว่า หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 เป็นต้นมา มีผู้ใช้ “กัญชา” จำนวนมากเจ็บป่วยฉุกเฉิน/ประสาทหลอน ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ไปเพิ่มภาระงานที่ห้องฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น และ “กัญชา” มีผลกระทบด้านลบต่อการเจริญเติบโตของสมองและพัฒนาการของเด็กในระยะยาวด้วย
อีกทั้ง “กัญชา” ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ใช้เพียงบรรเทาอาการชั่วคราวของโรคตามข้อบ่งใช้เท่านั้น
แพทยสภาจึงมีคำแนะนำการใช้และไม่ใช้กัญชาให้ประชาชนดังนี้
–ใช้ เฉพาะสารสกัดกัญชาที่ทราบปริมาณแน่นอน ของสาร CBD และ THC ในการรักษาโรคตามข้อบ่งใช้ จากแพทย์ที่ผ่านการอบรม
–ไม่ใช้ กัญชาในลำดับแรกในการรักษาโรค จะใช้เมื่อใช้ยามาตรฐานขนานอื่น แล้วไม่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการ/ภาวะของโรคได้
–ไม่ใช้ กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี เพราะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง
–ไม่ ผสมกัญชา/กัญชงลงในอาหารหรือขนม สำหรับให้ประชาชนรับประทาน
–ไม่ใช้ กัญชา/กัญชงเพื่อนันทนาการโดยเด็ดขาด
–ไม่ใช้ ช่อดอกของกัญชา เพราะมีสารเสพติด ซึ่งจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้มาก
–ไม่ใช้ กัญชา/กัญชงโดยเด็ดขาดในประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้มีโรคตามข้อบ่งใช้
แพทยสภาและสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในอาคารมหิตลาธิเบศร เห็นชอบร่วมกันประกาศให้อาคารนี้ เป็นพื้นที่ปราศจากกัญชา/กัญชง บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดทั้งมวล เพื่อให้ความปลอดภัยและการมีสุขภาพดีของทุกคน
.
ท่านสามารถหารายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ และคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชา กัญชงของราชวิทยาลัย/วิทยาลัย สมาคมและองค์กร ที่แพทยสภาให้การรับรองความถูกต้องของข้อมูลได้ที่ www.tmc.or.th/cannabis.php
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ
(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย
(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”
แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น
ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้
จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้