ประวัติ : ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ชัยนาท 4 หรือ ถั่วเขียวผิวดำสายพันธุ์ CNBGL67-1 เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง สายพันธุ์ PI220306 และ BC48 ในปี 2538 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ดำเนินการผสมข้ามในฤดูแล้ง ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ในปลายฤดูฝน ปี 2539 ปลูกลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) ปี 2540-2541 ปลูกคัดเลือกในชั่วที่ 2 ถึงชั่วที่ 4 โดยวิธีเก็บเมล็ด 1-3 เมล็ดต่อต้น ปี 2541 ปลูกคัดเลือกต้นในชั่วที่ 5 ใช้วิธีการคัดเลือกรายต้นที่มีลักษณะทรงต้นดี, ผลผลิตสูง แล้วนำเมล็ดจากแต่ละต้นไปปลูกเป็นต้นต่อแถว ปี 2542-2544 ปลูกคัดเลือกในชั่วที่ 6-8 ใช้วิธีการคัดเลือกแถวที่มีลักษณะดี เพื่อประเมินคัดเป็น สายพันธุ์ที่ดี ปี 2544-2553 ทำการประเมินผลผลิต โดยดำเนินการทดลองในศูนย์วิจัยและไร่เกษตรกรเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง รวมทั้งหมด 27 แปลงทดลอง ปี 2553-2558 ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์และการเพาะถั่วงอก ปี 2553 และ 2559 ประเมินการยอมรับพันธุ์ของเกษตรกร
ลักษณะประจำพันธุ์ : การเจริญเติบโตเป็นแบบตั้งตรง โคนต้นอ่อนใต้ใบเลี้ยงมีสีม่วง ใบย่อยใบกลางเป็นรูปไข่ มีขนาดยาว 9.5 เซนติเมตรกว้าง 6.0 เซนติเมตร ก้านใบมีความยาว 8.4 เซนติเมตร มีสีม่วงอมเขียว บนก้านใบมีขนน้อย ใบมีสีเขียวเข้ม สีผิวบนใบมีสีเข้มกว่าผิวใต้ใบ มีขนน้อย กลีบดอกมีสีเหลืองอมเขียว ไม่มีขน กลีบเลี้ยงมีสีเขียว มีขนปานกลาง ก้านชูช่อดอกยาว 8.3 เซนติเมตร ขนที่ก้านชูดอกน้อย ช่อดอกออกดอกใต้ทรงพุ่ม ฝักอ่อนมีสีเขียวอ่อน มีขนมาก ฝักแก่มีสีน้ำตาลเข้ม มีขนน้อย มีลักษณะกลมเมื่อฝักแก่ไม่แตก ตำแหน่งของขั้วเมล็ดอยู่กึ่งกลาง ขั้วเมล็ดนูน เมล็ดเป็นรูปกระบอก มีสีดำ
ลักษณะเด่น :
1 .ผลผลิตสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 284 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 228 กิโลกรัมต่อไร่ ร้อยละ 24 และมีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์พิษณุโลก
2 เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก โดยให้น้ำหนักสดถั่วงอกสูง 6,075 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด 1,000 กรัม สูงกว่าพันธุ์ชัยนาท 80 และพิษณุโลก 2
3.ต้านทานสูงต่อโรคแอนแทรคโนส
พื้นที่แนะนำ : เหมาะสำหรับปลูกเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ในปลายฤดูฝนและฤดูแล้ง
วันที่รับรอง : 19 มีนาคม 2561 ประเภทพันธุ์รับรอง
หน่วยงานที่รับผิดชอบ : ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร