วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประเด็นราคา “น้ำมันปาล์มขวด” บริโภค การขอปรับขึ้นราคานมและแผนการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ราคาผลปาล์มขึ้นไปสูงมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากกิโลกรัมละ 2 บาทกว่า ขึ้นเป็น 4-5 บาท/กก. และไปถึง 11-12 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงมาก
แต่ในช่วงปลายเดือนที่แล้วราคาผลปาล์มปรับลดลงเนื่องจากอินโดนิเซียหันมาเร่งรัดการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง มีผลทำให้ราคาในตลาดโลกปรับลดลง มีส่วนในการทำให้ราคาผลปาล์มปรับลดลงมาในช่วงนี้ แต่อย่างไรก็ตามคำถามที่ว่า ทำไมราคาผลปาล์มลดลงมาแต่ “ราคาน้ำมันปาล์มขวด”บริโภคยังสูงอยู่
ขอเรียนว่ากระทรวงพาณิชย์ติดตามตลอด ราคา “น้ำมันปาล์มขวด” บริโภคยังทรงอยู่เพราะเป็นสต๊อกเดิมที่รับซื้อในช่วงที่ราคาผลปาล์มสูงมาก สกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มขวดในช่วงต้นทุนที่สูง แต่ตนสั่งการไปแล้วก่อนหน้านี้ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเร่งกำกับให้ปรับลดราคา “น้ำมันปาล์มขวด” บริโภคลงมาให้สอดคล้องกับต้นทุนให้เร็วที่สุด จะมีตัวเลขสต๊อกล่าสุดกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งจากการสำรวจล่าสุดในวันนี้ จะเห็นตัวเลขว่าสามารถปรับลดราคาได้เมื่อไหร่ คาดว่าเป็นในช่วงสัปดาห์นี้สอดคล้องกับต้นทุนใหม่ที่เกิดขึ้น
“ผมจะพยายามดูแลผลประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ดีที่สุดไม่ต้องกังวล ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักเหมือนที่ผมพูดว่าเป็น “วิน-วินโมเดล” ดูแลทั้งเกษตรกร ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและผู้บริโภคให้อยู่ร่วมกันได้ให้เป็นภาระของแต่ละฝ่ายน้อยที่สุด ให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด”
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นที่นมขอปรับราคาขึ้น นายจุรินทร์ตอบว่า ได้มีการเสนอขอปรับขึ้นราคานมผงและนมพร้อมดื่มทั้งพาสเจอไรซ์และยูเอชที แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาตให้มีการปรับราคาขึ้นพยายามตรึงไว้ให้นานที่สุด จนกว่าจะอั้นไม่อยู่จริง ๆ เมื่อต้นทุนปรับสูงขึ้นจนผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตต่อได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาของขาด ถ้ามีของขาดจะมีความรู้สึกใหม่ตามมา คือ แพงหน่อยดีกว่าไม่มีของกินต้องพยายามดูให้สมดุลที่สุด รักษาประโยชน์ของทุกฝ่ายไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและต้องดูด้วยเหตุด้วยผลแต่ละกรณี หากส่วนไหนจำเป็น ต้นทุนสูงขึ้นมาจริง ต้องพิจารณาใช้เป็นกรณีไม่ใช่อนุมัติให้ปรับราคาทั้งหมดโดยไม่ดูว่าอันไหนสูงขึ้นจริงหรือสูงขึ้นไม่จริง หรือเป็นแค่ข้ออ้างว่าสูงขึ้นในภาพรวม
“ต้องยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจริงในภาพรวม ที่เราเห็นก็คือราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและค่าขนส่งก็สูงขึ้นตามไปด้วย ต้องให้กระทบกับราคาขายปลีกไปยังผู้บริโภคน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังดีขึ้นในช่วงระยะหลังนี้และสำหรับเรื่องพลังงานเป็นภารกิจที่กระทรวงพลังงานจะเป็นตัวหลักในการดำเนินการ ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวมกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูว่าจะต้องรับมืออย่างไร ดูแลอย่างไรแต่ในภาคการผลิตหลายกระทรวงก็เกี่ยวข้องสินค้าเกี่ยวกับเกษตร”
กระทรวงเกษตรฯ ก็เข้าไปดูเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมก็เข้าไปดู เรื่องค่าการผลิต การลดต้นทุนหรือในส่วนอื่น ๆ เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานในการเดินหน้าตลอดปี 65 ประกาศตั้งแต่ต้นปีเพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น
แต่ดูในเรื่องของราคาพืชผลการเกษตร การดูแลเกษตรกรในเรื่องประกันรายได้เกษตรกร รวมถึงการค้าชายแดน การเร่งรัดการส่งออกซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง การส่งออกเฉพาะ 5-6 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นถึง 13% เงินเข้าประเทศไปแล้ว 4 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมาก จะต้องปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เป็นรายละเอียดที่ต้องเข้าไปดู แต่แผนรวมทำไว้และเดินหน้าอยู่แล้ว