นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะนี้ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร รณรงค์ยกระดับมาตรการในการกำจัด และป้องกัน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain ตั้งแต่การผลิตจากสวนของเกษตรกร การเก็บเกี่ยว คัดบรรจุ และการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืช มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ กรมวิชาการเกษตร เร่งขยายผล จากผลงานวิจัย และนวัตกรรม จัดการสวนตามแนวทางการทำการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูง คุ้มค่าการลงทุน และขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกร และผู้บริโภค ให้เชื่อมโยงกับตลาดภายในประเทศ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก) สหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด และภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ซึ่งต่างยืนยันว่า ยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนภายในประเทศ และต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งการบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวน และไอศกรีมทุเรียน เป็นต้น ซึ่งราคาจำหน่ายทุเรียนในประเทศ ยังได้ราคาดี ไม่น้อยกว่า การส่งออก ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และยังต้องเสี่ยงต่อการการเรียกเก็บเงินปลายทางอีก
กรมวิชาการเกษตร โดย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดงาน Kick off กิจกรรมรณรงค์ป้องกันปัญหาหนอนเจาะทุเรียนจังหวัดชายแตนใต้ ณ ศูนย์สงเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ หน่วยงานระดับจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ ขยายผลเพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มีคำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และด่านตรวจพืชในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการมาตรการกรอง 4 ชั้นอย่างเคร่งครัด ในพื้นที่เสี่ยงการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เน้นย้ำการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของทุเรียนประเทศไทย
มาตรการการผลิตทุเรียนคุณภาพของจังหวัดยะลาประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ร่วมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าวให้กับผู้นำชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดยะลา เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ปัญหาทุเรียนอ่อน และปัญหาการขาดแคลน และสวมสิทธิ์ใบ GAP ซึ่งหากพบปัญหาดังกล่าว จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของทุเรียนไทย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาดำเนินการจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ และผลเสียและการป้องกันการสวมสิทธิ์ใบ GAP
ขั้นตอนที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร วิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะที่เหมาะสมหลักสูตรนักคัดนักตัดในระดับแปลงเกษตรกรและโรงคัดบรรจุ
ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแปลงต้นแบบในการใช้วิธีการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยวิธีผสมผสานให้แพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนนั้นๆ
ขั้นตอนที่ 4 ทดสอบนวัตกรรมการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)ที่เหมาะสม ในพื้นที่ทุเรียนต้นสูง โดยมีการทดสอบทางกายภาพของอากาศยานไร้คนขับในทุเรียนต้นสูง(ความเร็วในการบินที่เหมาะสม ความสูงเหนือทรงพุ่ม อัตราการพ่นหรือปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ และขนาดละอองสาร) การทดสอบทางด้านประสิทธิภาพในการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับ (ทำการพ่นสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงBacillus thuringiensis และสารเคมีที่แนะนำ) เพื่อให้ได้วิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และพฤติกรรมของเกษตรกรจังหวัดยะลา
ขั้นตอนที่ 5 การขยายผลนวัตกรรมการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และการติดตามผลการดำเนินงานแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะมีทุเรียนสดที่ถูกตีกลับจากประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความเชื่อมั่น จนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน กรมวิชาการเกษตร จำเป็นต้องใช้กลไก ภายใต้ข้อตกลงในพิธีสารการส่งออกผลไม้ ไทย-จีน และประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลผลิตทุเรียนทุกผลต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน มกษ.3-2556 มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ได้มีการกำชับให้ สวพ. 7 และ สวพ. 8 นายด่านตรวจพืช เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง ทั้งนี้จากการสอบถามทูตเกษตรประจำกรุง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ยืนยัน ความต้องการ และราคาทุเรียนไทยคุณภาพในจีนยังสูงอยู่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ย้ำตอนท้ายว่า “การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เป็นประเด็นให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทางการเกษตร” จำเป็นต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ได้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการให้รอบคอบและรัดกุมทั้งในมิติของการส่งออก และการช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจมีผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนทั่วประเทศ ที่ได้รับการรับรอง GAP และสามารถส่งออกไปจีนแล้ว จำนวน 633,771.86 ไร่ 73,237 แปลง เกษตรกร เกษตรกรจำนวน 66,054 ราย มีปริมาณกการส่งออกที่ขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแล้วตั้งแต่ มกราคม 67 ถึงปัจจุบัน จำนวน 40,408 ชิปเมนท์ 638,428.64 ตัน มูลค่า 84,833.52 ล้านบาท ซึ่ง รมว.เกษตร ได้สั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร ยกระดับมาตรการในการกำจัด และป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain ตั้งแต่การผลิตจากสวนของเกษตรกร การเก็บเกี่ยว คัดบรรจุ และการตรวจสอบรับรองสุขอนามัยพืช มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ