วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เยี่ยมชมร้านค้าจำหน่าย “ผลิตภัณฑ์จากกัญชา” ในนครนิวยอร์ก ระหว่างการเข้าร่วมประชุมหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565 (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF2022) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 15 กรกฎาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นางพัชรี กล่าวว่า ตนได้รับแต่งตั้งจากประธานคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืช “กัญชา” และ “กัญชง” ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม อีกทั้งภารกิจในการดูแล ปกป้อง คุ้มครองเด็กและเยาวชนของกระทรวง พม. ตนจึงสนใจศึกษาสถานการณ์การใช้ “กัญชา”และ“กัญชง” ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้จากการเยี่ยมชมร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์จาก “กัญชา กัญชง” ในนครนิวยอร์ก พบว่ามีผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกอม เยลลี่ แคปซูล รวมทั้งผลิตภัณฑ์รูปแบบเม็ดและผง ซึ่งอาจใช้กิน ดื่ม สูบ หรือวิธีการอื่นได้ โดยได้เปิดจำหน่ายอย่างเสรีให้แก่ประชาชนทั่วไปที่แสดงหลักฐานว่ามีอายุ 21 ปีขึ้นไป
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จากการพูดคุยกับผู้ขายทำให้ทราบว่า เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 21 ปี ยังสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์จาก “กัญชา”ได้ไม่ยาก หากซื้อผ่านผู้ที่อายุผ่านเกณฑ์หรือมีความสนิทสนมกับผู้ขาย ซึ่งในประเด็นนี้ ทำให้ตนมีความห่วงกังวลต่อเด็กและเยาวชนไทยอยู่พอสมควร เนื่องจากผลิตภัณฑ์จาก“กัญชา” มีความหลากหลาย เด็กและเยาวชนจึงสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยผู้ปกครองอาจไม่ทราบ
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี ตนจะได้รวบรวมประโยชน์และโทษ การเข้าถึงรูปแบบการใช้ รวมถึงผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดจากการใช้พืชกัญชาและกัญชง เพื่อหารือกับคณะอนุกรรมการฯ เพื่อจัดทำเป็นแนวทางการให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้รู้เท่าทัน และสามารถใช้พืชกัญชาและกัญชงให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ รวมถึงวางแนวทางในการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่อาจได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวในอนาคตต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ
(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย
(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”
แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น
ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้
จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้