ทุเรียน GI ที่มีการขึ้นทะเบียนกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด 11 ชนิด เป็นทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ที่มีจุดเด่นทั้งลักษณะผลและรสชาติต่างกัน
GI คืออะไร GI (Geographical Indication) ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจงคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่นที่ต้องมีการจดทะเบียนตามขั้นตอน
ทุเรียน GI แม้จะมาจากพันธุ์เดียวกันแต่ปลูกคนละพื้นที่ มีรสชาติและเอกลักษณ์แตกต่างกัน เรามาดู 11 ทุเรียน GI มีที่ไหนบ้าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันอย่างไร
ทุเรียนหลินลับแล อุตรดิตถ์ Uttaradit Lin Lab Lae Durian
ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด เหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลาของ จังหวัดอุตรดิตถ์
ทุเรียนหลงลับแล อุตรดิตถ์ Uttaradit Long Lab Lae Durian
ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อเยอะ สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา ของจังหวัดอุตรดิตถ์
ทุเรียนในวงระนอง Naiwong Ranong Durian
ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวาน หอม มัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ปลูกในพื้นที่ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ ของอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
ทุเรียนสาลิกาพังงา Phangnga Salika Durian
ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพังงา มีผลทรงกลม เปลือกบาง หนามสั้นและถี่ เนื้อหนาละเอียดสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม แต่ไม่ฉุนมาก แกนกลางเปลือกทุเรียนจะมีสีสนิมแดง เมล็ดลีบ รสชาติหวาน ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอกะปง ของจังหวัดพังงา
ทุเรียนปากช่อง เขาใหญ่ Pakchong-Khaoyai Durian
ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ทุเรียนชะนีเกาะช้าง Cha Nee Koh Chang Durian
ทุเรียนพันธุ์ชะนี ที่มีลักษณะผลค่อนข้างรี ยาว หนามใหญ่และห่าง เปลือกบาง สีผิวออกสีน้ำตาลปนแดงเนื้อทุเรียนหนา ผิวสัมผัสละเอียด แห้ง เหนียว มีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานมัน และมีกลิ่นหอม ปลูกเฉพาะในพื้นที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
ทุเรียนจันท์ Chan Durian
ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์พวงมณี พันธุ์นกหยิบ พันธุ์ทอง ลินจง พันธุ์นวลทองจันทร์ พันธุ์กบสุวรรณและพันธุ์ทางการค้า ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี 1 ถึงพันธุ์จันทบุรี 10 ที่มีเนื้อละเอียดสีเหลือง หรือเหลืองเข้มหรือเหลืองอมส้ม เนื้อหนาละเอียด มีเส้นใยน้อย หรือไม่มีเส้นใย รสชาติหวานมัน หรือหวานแหลม ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี
ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ Sisaket Volcanic Area Durian
ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ที่มีรสชาติหวานมันมีกลิ่นหอมปานกลาง เนื้อละเอียด เนียนนุ่ม แห้งสีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล ซึ่งปลูกในพื้นที่อำเภอ ขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอศรีรัตนะ ของจังหวัดศรีสะเกษ
ทุเรียนปราจีน Prachin Durian
ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธุ์ พื้นเมืองอื่นๆ ที่มีเนื้อแห้ง หนา เส้นใยน้อย มีรสหวานมัน ปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิและอำเภอนาดี ของจังหวัดปราจีนบุรี
ทุเรียนนนท์ Nont Durian
มีหลายพันธุ์ และมีความพิเศษแตกต่างกันมีทั้งพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี และพันธุ์กระดุมทอง ปลูกในจังหวัดนนทบุรี มีรสชาติดีหวานมัน หอม สีเหลือง เนื้อละเอียด
ทุเรียนป่าละอู Pa La-U Durian
เป็นพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี มีเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน แห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมันเม็ดลีบเล็ก ปลูกในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ขอบคุณข้อมูล จาก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา