“หนุนสหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล ปัตตานี ต้นแบบการดำเนินงานตามกฎหมาย EUDR พร้อมขยายผลไปสู่สหกรณ์ทั่วประเทศ ช่วยเกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่ม”

กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล จำกัด เป็นต้นแบบสหกรณ์ที่ดำเนินงานตามกฎหมาย EUDR (European Union Deforestation-free Regulation) เกิดการรวมซื้อรวมขาย มีการเชื่อมโยงเครือข่าย ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมขยายผลความสำเร็จไปยังสหกรณ์ทั่วประเทศ

S 22061068

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวภายหลังนำทีมผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล จำกัด ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ว่า ขอชื่นชมคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ สมาชิกสหกรณ์ที่ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถดำเนินธุรกิจได้ประสบผลสำเร็จ มีการรวมซื้อรวมขาย รวบรวมน้ำยางพาราสดนำมาแปรรูป ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายในการรวบรวมน้ำยางสด และยังดำเนินงานตามกฎหมาย EUDR ทำให้ขายยางพาราได้ราคาดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากต่างชาติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ส่งเสริมให้สหกรณ์มีโรงผสมปุ๋ยของตนเอง พร้อมกับขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินในการตรวจวิเคราะห์ค่าดิน และให้สหกรณ์ผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิก ซึ่งกรมฯ พยายามขับเคลื่อนและจะพัฒนาไปจนถึงปุ๋ยคนละครึ่งเพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตด้วย และพร้อมสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์การตลาด ไปจนถึงองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาด การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ และการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกด้วย


S 22061074

“ผลจากที่สหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการ EUDR ทำให้ชาวสวนยางได้รับราคายางที่ดีขึ้น เนื่องจากตามกฎหมาย EUDR ถ้าชาวสวนยางสามารถบ่งบอกจุดที่เป็นที่ตั้งของสวนยางได้ว่า เป็นสวนยางที่ไม่บุกรุกป่า ไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้วสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ยางที่นำมาขายกับสหกรณ์ สหกรณ์จะได้รับราคาที่สูงขึ้นกว่ายางทั่วไป เช่น ราคาในวันนี้ได้รับราคาที่ 92 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ดีกว่าที่ซื้อเป็น Non-EUDR ประมาณ 20 บาท/กก. และในส่วนนี้สหกรณ์ไปซื้อน้ำยางจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในราคาที่สูงขึ้นด้วย ก็ทำให้เกษตรกรได้รับราคาน้ำยางสดที่ดีขึ้น โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนยางได้เป็นอย่างมาก เฉพาะเรื่องของราคาอย่างเดียวก็ทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีขึ้น กรมจะขยายผลไปยังสหกรณ์อื่น ๆ ที่เกษตรกรสามารถบ่งบอกได้ว่าสวนยางของตนเองมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ไม่ผลิตจากสวนยางที่บุกรุกทำลายป่าหรือป่าต้นน้ำ ถ้าสามารถยืนยันตรงนี้ได้ก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้” อธิบดีฯ วิศิษฐ์ กล่าว

S 22061072

สหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 31 ปี ปัจจุบันสมาชิก 102 คน ทุนดำเนินงาน 1.565 ล้านบาท สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและการผลิตสินค้า ซึ่งสหกรณ์ฯ ดำเนินการแปรรูปยางพารา โดยสหกรณ์กู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ตามวัตถุประสงค์ในการรวบรวมและแปรรูปยางพารา จำนวน 1 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักในการดำเนินธุรกิจ และสามารถใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐในการรวบรวมและแปรรูปยางพารา โดยรับซื้อน้ำยางสดของสมาชิก เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายในการรวบรวมน้ำยางสด เช่น สหกรณ์การเกษตร กรป.กลาง มะปรางมันปัตตานี จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองช้าง จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางโคกพันตัน จำกัด สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำยางสดเพื่อผลิต 430,918.62 กิโลกรัม เป็นเงิน 7,359,258 บาท เข้ากระบวนการแปรรูป จำนวน 153,517 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,665,540.60 บาท คิดเป็นร้อยละ 69.76 ของปริมาณธุรกิจรวม

S 22061070

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ยังได้นำนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเน้นขับเคลื่อนงานส่งเสริมสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน เช่น การสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมขับเคลื่อนงานตามกฎหมาย EUDR โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม และใช้ระบบการประมูลขายยางผ่านระบบตลาดซื้อขายยางพาราให้กับตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา ส่งผลให้สหกรณ์ขายยางพาราในราคาที่สูงกว่าตลาด และอีกส่วนหนึ่งถือว่าเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพลังงานจังหวัดปัตตานีเรื่องบ่อบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตยางพารา ใช้น้ำเสียแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของสหกรณ์ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิต (ไม้ฟืน) ลดลงกิโลกรัมละ 0.40 บาท หรือลดลงประมาณ 58,000 บาท/ปี

S 22061073

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังผลิตปุ๋ยสั่งตัด โดยกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 1 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักในการดำเนินธุรกิจ และสามารถใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐในการแปรรูป ปุ๋ยสั่งตัด ส่งผลให้สามารถจัดหาแม่ปุ๋ย และผลิตปุ๋ยสั่งตัดจำหน่าย จำหน่ายให้กับสมาชิกทำให้สามารถลดต้นทุนการประกอบอาชีพในการใส่ปุ๋ยได้กระสอบละ 200 บาท โดยลดลงประมาณ 600 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.67 ผลสำเร็จจากการดำเนินงาน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความสนใจและเชื่อมั่นต่อความเป็นสหกรณ์ ได้รับคัดเลือกจากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดปัตตานี เป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2565/2566 ประเภท “สหกรณ์ระยะพัฒนา” และได้รับรางวัลสหกรณ์ระยะพัฒนาดีเด่น รางวัลที่ 2 ประจำปี 2566/2567 ระดับเขตภาคใต้ตอนล่างอีกด้วย


S 22061075
S 22061071
S 22061078
S 22061079