ครม.ไฟเขียว “โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม” ลดผลผลิตส่วนเกินปี 65

ในการประชุม “คณะรัฐมนตรี ” วันที่ 5 ก.ค. 65 มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้

1.อนุมัติการดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 ทั้งนี้ในการดำเนินการโครงการฯจะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะ “น้ำมันปาล์มดิบ” เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก

2.อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2565 รวมทั้งสิ้น 309 ล้านบาท

3.เห็นชอบหลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ตามโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565

สาระสำคัญของเรื่องกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า

1.ในปี พ.ศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ดำเนินโครงการผลักดันการส่งออก “น้ำมันปาล์ม” เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 เป้าหมาย 300,000 ตัน ภายในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มกิโลกรัมละ 2 บาท วงเงิน 618 ล้านบาท จากงบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แต่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่เกี่ยวข้องแล้ว ตามมติ กนป. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ต่อมา กนป. มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 เห็นชอบการขยายระยะเวลาส่งออก จากเดิมภายในเดือนมีนาคม 2564 ออกไปเป็นเดือนกันยายน2564 )

ทั้งนี้ให้พิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าตลาดโลก

2. ผลการดำเนินโครงการ ผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2564 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – ธันวาคม 2564

3. สถานการณ์ตลาดปาล์มน้ำมันในปัจจุบัน

3.1 สถานการณ์การผลิตในปี 2565 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 17.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 จากปี 2564 (16.79 ล้านตัน)

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาผลปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลง จากกิโลกรัมละ 10.70 – 12.10 บาท (ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565) เป็นกิโลกรัมละ 8.00 – 9.80 บาท (ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565) หรือลดลงเฉลี่ยร้อยละ 22 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

3.2 ความต้องการใช้ “น้ำมันปาล์ม” ภายในประเทศชะลอตัวลงบางส่วนจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่ยังมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นรวมทั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยปรับลดสัดส่วนการใช้ B100 ในน้ำมันดีเซล ทั้ง B7 B10 และ B20 เหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยปริมาตร ส่งผลให้ความต้องการใช้ “น้ำมันปาล์มดิบ” ในภาคพลังงานลดลง

3.3 สถานการณ์ด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความผันผวนอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มกว่า 380,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 เพื่อใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการสมดุลอุปทานในประเทศ และเป็นมาตรการรองรับในกรณีที่มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินสะสมอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของประเทศ

4. การดำเนินการที่ผ่านมา

4.1 พณ. โดยกรมการค้าภายใน ได้ประชุมหารือร่วมกับ สงป. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 และที่ประชุมมีมติรับทราบเหตุผลและความจำเป็นในการขอรับการจัดสรรเงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 เนื่องจากกรมการค้าภายในไม่สามารถเจียดจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งมีจำนวนจำกัดได้

รวมทั้งงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่คงเหลืออยู่จำเป็นต้องสำรองไว้ใช้กับ“สินค้าเกษตร” ชนิดอื่นที่มีแนวโน้มราคาตกต่ำในปี 2565 และเห็นควรให้ พณ. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวโดยคงกรอบรายละเอียดของมาตรการและกรอบวงเงินงบประมาณ ตามที่ กนป. ได้มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565

4.2 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในได้มีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2565 ถึง สงป. เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 วงเงิน 309 ล้านบาท พร้อมทั้งนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ การขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบตามโครงการฯ

ซึ่ง สงป. แจ้งว่าได้นำเรื่องดังกล่าวเรียนนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายในกรอบวงเงิน 309 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ พณ. เสนอ โดยให้เบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น และให้ พณ. นำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3) ต่อไป และขอให้ พณ. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณกับ สงป.เป็นรายงวดตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและได้มีการตรวจสอบแล้วภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้

ทั้งนี้ สงป. มีข้อสังเกตเพิ่มเติม โดยเห็นควรมอบหมายให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานการตรวจสอบปริมาณ สต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือภายในประเทศ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการผลักดันการส่งออกให้มีความสัมพันธ์ในแต่ละห้วงเวลาเพื่ออุดหนุนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบให้กับผู้ประกอบการเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม

ตลอดจนคำนึงถึงสถานการณ์ด้านพลังงานซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องใช้ ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น จากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ (กษ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีมาตรการ กลไกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณมากและคุณภาพสูง ใช้ต้นทุนต่ำไม่ขาดทุนและการปลูกปาล์มตามความเหมาะสมพื้นที่(Zoning) อันสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด

โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านและระยะยาวควรเร่งดำเนินการลดพื้นที่ “ปลูกปาล์มน้ำมัน”โดยการปรับเปลี่ยน การเพาะปลูก การปลูกพืชเสริมหรือประกอบอาชีพอื่น ตลอดจนการกำหนดมาตรการให้ภาคเอกชนรับซื้อ“ปาล์มน้ำมัน”จากเกษตรกรในพื้นที่ปลูกปาล์มที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น รวมทั้งการพิจารณาถึงผลกระทบต่อราคาตลาด ในประเทศที่อาจลดต่ำจากราคารับซื้อปาล์มดิบที่ไม่สอดคล้องกับราคาตลาดโลก

289961203 600134141679130 1616004095148635192 n
ปาล์มน้ำมัน

5. โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565

5.1 รายละเอียดโครงการ

เป้าหมาย สนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO) ปริมาณเป้าหมาย 150,000 ตัน ภายในเดือนกันยายน 2565

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศให้เข้าสู่ระดับสมดุล

2. เพื่อยกระดับราคาผลปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายได้ให้สูงขึ้น และรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ

ผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้ค้า ผู้จัดเก็บ หรือผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มหรือผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน

เงื่อนไขการจ่ายเงินสนับสนุน 1. สนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับการส่งออก เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ ค่าปรับปรุงคุณภาพ ค่าเอกสาร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท

2. จะพิจารณาสนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับการส่งออก เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก


ระยะเวลาโครงการ 1. ระยะเวลาส่งออก: ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ – กันยายน 2565

2. ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ – ธันวาคม 2565

วงเงินโครงการ รวมทั้งสิ้น 309 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบให้ผู้ส่งออก 300 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานส่วนราชการ 9 ล้านบาท (ร้อยละ 3 ของวงเงินดำเนินการ)

แหล่งที่มาของงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ,งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

5.2 ร่างหลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบตามโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565

5.2.1 พณ.โดยกรมการค้าภายในแต่งตั้งคณะทำงานบริหารกำกับดูแล “โครงการผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์ม”เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 เพื่อทำหน้าที่กำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบตามโครงการฯ การตรวจสอบและให้ความเห็นชอบเอกสารหลักฐาน และการจัดสรรปริมาณการส่งออกที่จะให้การสนับสนุน ก่อนเสนออธิบดีกรมการค้าภายในอนุมัติ รวมทั้งกำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวัตถุประสงค์ของโครงการ

5.2.2 สนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) พิกัดอัตราศุลกากร 1511.10.00 ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ ค่าปรับปรุงคุณภาพ ค่าเอกสาร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะพิจารณาสนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขการจ่ายเงินสนับสนุนทั้ง 2 เงื่อนไข

ดังนี้ 1) ระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน โดยพิจารณาจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือรายเดือนที่ประมวลจากการแจ้งของผู้ประกอบการ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งกรมการค้าภายในประมวลสรุปเป็นรายเดือน และได้รับความเห็นชอบจากกรมการค้าภายในแล้ว

และ 2)ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ พิจารณาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย (ณ ตลาดกรุงเทพมหานคร) เฉลี่ยรายวัน ที่เผยแพร่โดยกรมการค้าภายใน สำหรับราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดโลก พิจารณาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียเฉลี่ยรายวันที่เผยแพร่โดย Malaysian Palm Oil Board (MPOB)

5.2.3 คณะทำงานบริหารกำกับดูแลโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 พิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินสนับสนุนทุก 1 งวดเดือน

(1) กรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการจ่ายเงินตามข้อ 5.2.2 ให้คณะทำงานฯ ออกประกาศชะลอการจัดสรรเงินสนับสนุน

(2) กรณีเป็นไปตามเงื่อนไขตามข้อ 5.2.2 ให้คณะทำงานฯ ออกประกาศจัดสรรเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในปริมาณที่รวมทุกรายแล้วต้องไม่เกินปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ส่วนที่เกินกว่า 300,000 ตัน โดยผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติต้องยื่นแบบคำขอรับการสนับสนุนตามโครงการฯ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วนภายในระยะเวลายื่นแบบคำขอฯ และได้มีการส่งออกจริงภายในระยะเวลาที่คณะทำงานฯ กำหนดในแต่ละงวดเดือน ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาการส่งออก การยื่นแบบคำขอรับการสนับสนุน การพิจารณาระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศและตลาดโลก ให้เป็นไปตามที่คณะทำงานฯ กำหนด

5.2.4 การตรวจสอบและการเบิกจ่ายเงิน

(1) คณะทำงานฯ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานเมื่อสิ้นสุดระยะเวลายื่นแบบคำขอฯ ในแต่ละงวดเดือน ให้ความเห็นชอบเอกสารหลักฐาน และจัดสรรเงินสนับสนุน ก่อนเสนออธิบดีกรมการค้าภายในพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบตามโครงการฯ

(2) กรมการค้าภายในนำเสนอ สงป. เพื่อขอเบิกจ่ายเงินจาก งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในแต่ละงวดภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้