นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความสำเร็จการร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อสุขภาพและออร์แกนิก หรือ Naturally Good Expo 2022 International Convention Centre นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ว่า ภายใต้โครงการขยายตลาดสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน32 รายไปจัดแสดงสินค้า สำหรับเป้าหมายการร่วมงาน ไม่เพียงสร้างความรับรู้แก่ “ข้าวไทย” อีกทั้งเพิ่มศักยภาพสินค้าไทย ขยายช่องทางตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่
สำหรับการเข้าร่วมงานได้ดำเนินแนวทาง “Rice, Heart of Thailand, Heart of APEC” นำเสนอ “ข้าว” ในรูปแบบผสมผสานนวัตกรรม สานต่อมติที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค และนโยบายกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช้ BCG model พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้เตรียมพร้อมเจรจาการค้า Online และเปิดการแสดงสินค้าแบบ Virtual Exhibition รวมถึงนัดหมายเจรจาจับคู่ธุรกิจล่วงหน้า
ทั้งนี้ไทยยังได้รับคำชื่นชมในการจัดคูหา เพราะโดดเด่นด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างจากกระดาษ Recycle สอดรับกับสินค้าที่นำมาจัดแสดง พร้อมด้วยชะลอมที่ทำจากกระดาษ (สำหรับใส่สินค้าตัวอย่าง) เพื่อแจกให้ผู้เข้าชมงาน สื่อความหมายและความเชื่อมโยงกับ APEC การสร้างความสมดุลตามแนวทาง BCG
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทศวรรษที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยเผชิญความท้าทายทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งที่เกิดบ่อยขึ้น ผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น และประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่คู่แข่งหลักอย่างเวียดนามและอินเดียยังรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกได้ โดยในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 25 จากปีก่อน ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวลดลงเพียงร้อยละ 2 จากมาตรการห้ามส่งออกข้าวเพื่อรักษาปริมาณข้าวในประเทศในช่วงCOVID-19 และอินเดียส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวไทยตกมาเป็นที่ 3 จากอดีตเคยอยู่ที่ 1
ดังนั้น ทางออกจึงควรกลับไปแก้ให้ตรงจุด
โดย (1) ผลิตพันธุ์ข้าวให้ตรงความต้องการตลาด และหาตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ตลาดข้าวพื้นนุ่มกำลังขยายตัวในหลายประเทศ หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ใกล้ชิดตลาดต่างประเทศควรส่งสัญญาณล่วงหน้าเพื่อให้ภาคการผลิตมีเวลาปรับตัวไม่ให้เสียโอกาสเข้าสู่ตลาดข้าวลักษณะนี้ รวมทั้งหาตลาดข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวอินทรีย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกลุ่มผู้บริโภคที่ยอมจ่ายแพงเพื่อดูแลสุขภาพมากขึ้น
(2) เพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง งานศึกษาหลายฉบับ [1] พบว่าการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือปุ๋ยที่ผสมเองให้มีธาตุอาหารตรงกับความต้องการจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนลง เพราะข้าวได้สารอาหารที่ต้องการและไม่เสียปุ๋ยส่วนเกินที่ไม่จำเป็น ทำให้พืชทนทานกับโรคและแมลงได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงได้อีก รวมทั้งการเพาะปลูกข้าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดการดินตามระดับความอุดมสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยร้อยละ 20 (และสูงสุดถึงร้อยละ 60) หากชาวนาได้นำไปปรับใช้จะช่วยเพิ่มกำไร ซึ่งสามารถใช้รองรับวันที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่เป็นใจได้ เช่น ราคาข้าวปรับลดจากความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง และ
(3) ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตหลักลง โดยต้นทุนปุ๋ยที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 26 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งไทยต้องนำเข้าปุ๋ยมากกว่าร้อยละ 95 เราพบว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แม้ราคาปุ๋ยยูเรียในตลาดโลกที่คิดเป็นเงินบาทปรับลดลงร้อยละ 18 แต่ราคาขายส่งปุ๋ยยูเรียในไทยกลับลดลงเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นแต่ราคาปุ๋ยที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศกลับไม่ปรับลดลง ทำให้ชาวนายังมีต้นทุนที่สูงอยู่