ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำมีระบบเฝ้าระวังติดตามผลกระทบจากการใช้ “กัญชา” ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยเฉพาะการใช้ในทางที่ผิดและอุบัติเหตุ พร้อมตั้งอนุกรรมการจัดทำข้อมูลสื่อสารกับประชาชนทุกวันผ่านเฟซบุ๊กและหมอพร้อม ทำความเข้าใจผลดีผลเสีย “การใช้กัญชา”ทั้งในคนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด ทำให้มีการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจาก “การใช้กัญชา” ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน “การใช้กัญชาทางการแพทย์” และเพื่อสุขภาพ ไม่สนับสนุนการใช้ที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบ การเสพ และสันทนาการ โดยมีการออกกฎหมายมาควบคุมและป้องกันการใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ระหว่างรอการออก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … และจัดระบบติดตามเฝ้าระวังทั้งในส่วนของโรงพยาบาล คือ พิษจากกัญชาและปัญหาจิตประสาทและการเฝ้าระวังในชุมชน โดยเฉพาะการใช้ในทางที่ผิด โดยมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตออกแบบสำรวจเพื่อติดตามดูแนวโน้มผู้ป่วยในแต่ละเดือน รวมถึงติดตามเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุด้วย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม จำกัดการเข้าถึงในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดทำข้อมูลสื่อสารกับประชาชนทุกวันผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก หมอพร้อม เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาทั้งผลดี ผลเสีย การใช้ที่ถูกต้องโดยสื่อสารทั้งในกลุ่มคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากกัญชาที่ต้องได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน รวมถึงจะให้กรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิตร่วมกันอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่สังคมห่วงใยในแต่ละเขตสุขภาพด้วย
แม้ “กัญชา”จะไม่ใช่ยาเสพติด แต่ยังมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดังนั้นควรใช้อย่างเหมาะสม โดยทางการแพทย์ จะมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งหากใช้ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความปลอดภัย กรณีการนำไปใช้ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอาการเฉียบพลันต่างๆ ได้เตรียมการดูแลรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ ส่วนผลิตภัณฑ์จากกัญชาได้กำชับให้ อย.ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจากพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ
(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย
(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”
แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น
ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้
จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้