เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความว่า
สมองของเด็กและวัยรุ่นมีความเปราะบาง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระบบการทำงานของสมองส่วนอารมณ์และวงจรรับรู้ความสุข การได้รางวัลทำงานเด่นมากกว่าสมองส่วนการคิดวิเคราะห์และการใช้เหตุผล การยับยั้งชั่งใจน้อย จึงมีโอกาสติดสารเสพติดได้ง่าย และเลิกสารเสพติดได้ยากกว่าผู้ใหญ่
ปัจจุบันระบบตรวจสอบและวัดมาตรฐานปริมาณของ “สารเสพติดกัญชา”( THC) ในผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ มีความซับซ้อนไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง การนำ “กัญชา” ไปผสมอาหารและเครื่องดื่มขายออกมาสู่ท้องตลาดอย่างแพร่หลาย ทำให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย สามารถซื้อหามาเสพใช้เพื่อความบันเทิงแม้จะผิดกฏหมาย การได้รับสารดังกล่าวใน “กัญชา” ในปริมาณมากเกินส่งผลเสียต่อทั้งร่างกาย สมองและอารมณ์ ของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1.ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองแย่ลง เนื้อสมองน้อยลง ความจำสั้นและอาจเกิดความจำเสื่อมในระยะยาว ระดับเชาว์ปัญญาต่ำลง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และคิดอย่างมีเหตุผลถดถอย ขาดสมาธิ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้และผลการเรียนที่แย่ลงต่อเนื่อง
2.เพิ่มความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
3.เพิ่มความเสี่ยงของโรคจิตเภทและโรคจิตชนิดต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง
4.เพิ่มความเครียด อาการแพนิคและภาวะวิตกกังวล บางคนพบได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ บางคนพบได้ในช่วงหลังของการใช้กัญชา
5.อยู่ในสภาวะมึนเมาเพิ่มโอกาสของการเกิดพฤติกรรมเสี่ยง เป็นอันตรายขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น การเกิดอุบัติเหตุจราจร การพลัดตกจากที่สูง มีพฤติกรรมทางเพศที่ขาดการป้องกันทำให้ติดโรคหรือตั้งครรภ์ เป็นต้น
6.การใช้สารเสพติดนำไปสู่ความเสี่ยงของการคบเพื่อนกลุ่มเสี่ยง มีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย ผลการเรียนตกต้องออกจากระบบโรงเรียนตลอดจนเพิ่มโอกาสการไปใช้สารเสพติดในรูปแบบอื่นๆเพิ่มเติม ทำให้สูญเสียโอกาสในอนาคต
7.เมื่อเกิดกลไกเสพติดกัญชาแล้วจะทำให้หมกมุ่นสนใจแต่เรื่องการหากัญชามาใช้จนละเลยกิจกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยนอกจากนี้ ยังเกิดอาการถอนยา ซึ่งทุกข์ทรมานร่างกายหากไม่ได้ใช้กัญชา
8.ผลต่อสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะเมื่อใช้ในปริมาณสูง ทำให้ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูกคลื่นไส้ อาเจียนระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติอาจถึงขั้นหมดสติได้
.
คำแนะนำโดย
1.สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
2.ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
3.ชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย
4.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์