ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสร้างการรับรู้นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกร” เพื่อยกระดับราคาข้าวเปลือกของเชียงใหม่ให้มีเสถียรภาพ ประเดิมเปิดจุดรับซื้อครั้งแรกวันนี้ที่สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด หนุ่นสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร พร้อมจับมือภาคเอกชนเข้ามารับซื้อข้าวจากสหกรณ์ในราคาไม่ต่ำกว่า 10 บาท/กก. โดยมีนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และเกษตรกรกว่า 1,200 คน เข้าร่วม ณ ศูนย์รวบรวมและแปรรูปผลิตผลการเกษตร สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเงินตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด สหกรณ์การเกษตรฝาง จำกัด และสหกรณ์นิคมพร้าว จำกัด วงเงิน 12.884 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 176 ราย ปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าว กว่า 1,088 ตัน ซึ่งโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป็นการสนับสนุนสินเชื่อผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของตนเองในฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อรอขาย ซึ่งระหว่างรอการขายข้าวเปลือก เกษตรกรที่ร่วมโครงการจะได้รับสินเชื่อเพื่อไว้ใช้จ่ายในครัวเรือนและลงทุนประกอบอาชีพทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และเมื่อราคาข้าวเปลือกที่เก็บรักษามีราคาสูงขึ้นจนเป็นที่พอใจเกษตรกรก็สามารถมาไถ่ถอนนำข้าวเปลือกออกมาจำหน่ายได้ เพื่อให้ได้รับส่วนต่างของราคาและเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณสหกรณ์ดีเด่นระดับภาค ประจำปี 2567 ให้สหกรณ์ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ – ลำพูน จำกัด สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภาอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด รวมถึงมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร 300 ราย ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และทำการเกษตรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน่วยงานในสังกัด 22 หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงาน ที่นับว่ามีความสำคัญในการรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรกว่า 31 ล้านครอบครัว และผู้ใช้แรงงานในภาคการเกษตร อีก 21 ล้านคน รวมเป็น 52 ล้านคน ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และเป็นประชากรหลักในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งดูแลช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับคนเหล่านี้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีรายได้ที่มั่นคง โดยการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมีความกินดีอยู่ดี และสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลผลิตข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2566/67 ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2567 นี้ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ประสานสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ 7 อำเภอ ที่มีอุปกรณ์ฉาง ลานตาก และโรงสี พร้อมสำหรับเปิดจุดรับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือกนาปรังจากเกษตรกร และมอบหมายให้กรมการข้าว ประสานผู้ประกอบการเอกชน จำนวน 6 ราย เข้ามารับซื้อข้าวเปลือกในราคาไม่ต่ำกว่า 10 บาท/กก. (ความชื้นไม่เกิน 25%) เพื่อยกระดับราคาข้าวเปลือกของเชียงใหม่ให้มีเสถียรภาพ และได้มีการ Kick Off ประเดิมเปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกรครั้งแรกวันนี้ที่สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการเปิดจุดรับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 9 แห่ง ได้แก่
1) สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด มีอุปกรณ์ที่พร้อมในการดำเนินธุรกิจข้าวทั้ง โรงสี ไซโล ฉาง ลานตาก รถตักและเครื่องชั่ง โดยสหกรณ์มีแผนรวบรวมข้าวและแปรรูปข้าวหอมมะลิ 105/ข้าวเหนียว จำนวน 400 ตัน ขอรับสินเชื่อ ธ.ก.ส. เป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อและรวบรวมข้าว 4 ล้านบาท
2) สหกรณ์การเกษตรแม่ริม จำกัด มีโกดัง ฉาง ลานตาก รถตัก และเครื่องชั่ง มีแผนรวบรวมข้าวนาปรัง 3,000 ตัน ขอรับสินเชื่อ ธ.ก.ส. เป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อและรวบรวมข้าว 30 ล้านบาท
3) สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ด จำกัด มีโกดัง ฉาง ลานตาก รถตัก และเครื่องชั่ง มีแผนรวบรวมข้าวนาปรัง 5,000 ตัน ขอรับสินเชื่อ ธ.ก.ส. เป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อและรวบรวมข้าว 50 ล้านบาท
4) สหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด มีลานตาก ฉาง รถตัก และรถแทรคเตอร์ มีแผนรวบรวมข้าวนาปรัง 700 ตัน ขอรับสินเชื่อ ธ.ก.ส. เป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อและรวบรวมข้าว 7 ล้านบาท
5) สหกรณ์การเกษตรหางดง จำกัด จะเปิดจุดให้บริการในการรวบรวมข้าว โดยร่วมกับโรงสีพรพาณิชย์มาใช้พื้นที่ของสหกรณ์ในการรับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกร โดยสหกรณ์จะได้รับค่าบริหารจัดการตันละ 200 – 250 บาท
6) สหกรณ์นิคมพร้าว จำกัด มีอุปกรณ์ ลานตาก เครื่องชั่ง โรงสี และรถตัก โดยร่วมกับโรงสีในพื้นที่มาใช้พื้นที่ของสหกรณ์ในการรับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกร โดยสหกรณ์จะได้รับค่าบริหารจัดการตันละ 200 – 250 บาท
7) สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด มีโกดัง ลานตาก ฉาง รถตัก และเครื่องชั่ง โดยร่วมกับโรงสีในพื้นที่มาใช้พื้นที่ของสหกรณ์ในการรับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกร โดยสหกรณ์จะได้รับค่าบริหารจัดการตันละ 200 – 250 บาท
8) สหกรณ์การเกษตรฝาง จำกัด มีโกดัง ลานตาก โรงสี ไซโล เครื่องชั่ง รถเทลเลอร์ และรถเกี่ยว โดยร่วมกับโรงสี ในพื้นที่มาใช้พื้นที่ของสหกรณ์ในการรับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกร โดยสหกรณ์จะได้รับค่าบริหารจัดการตันละ 200 – 250 บาท
9) สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด มีลานตาก โดยร่วมกับโรงสีในพื้นที่มาใช้พื้นที่ของสหกรณ์ในการรับซื้อข้าวนาปรังจากเกษตรกร โดยสหกรณ์จะได้รับค่าบริหารจัดการตันละ 200 – 250 บาท
ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการเพื่อรองรับผลผลิตข้าวนาปรัง ทั้งการเปิดจุดรวบรวมข้าวเปลือกและประสานกับโรงสีเอกชนเข้ามารับซื้อข้าว เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่จะถึงนี้นั้น นับว่าสหกรณ์การเกษตรมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าการเกษตรโดยเฉพาะข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงพยายามผลักดันและสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรสินค้าข้าวแบบครบวงจร และยกระดับสหกรณ์ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรต่อไปในอนาคต