6 มีนาคม 2567 ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย พร้อมทีมไทยแลนด์ เข้าพบหารือนาย Ryosuke Ogawa ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF)
ผู้แทนการค้าเปิดเผยภายหลังการหารือว่า ได้ขอให้ประเทศญี่ปุ่นขยายโควตานำเข้ากล้วยหอมทองของไทยเข้าประเทศญี่ปุ่นมากขี้นจากเดิม จำนวน 8,000 ตัน ซึ่งโควตาใกล้จะหมดแล้ว เป็นจำนวน 100,000 ตัน ทั้งนี้ จะเป็นการส่งเข้ามาจำหน่ายโดยไม่เสียภาษีภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) โดยทาง นาย Ryosuke Ogawa ยินดีให้การสนับสนุน พร้อมจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลญี่ปุ่นให้พิจารณา และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
พร้อมกันนี้ นาย Ryosuke Ogawa ได้กล่าวชื่นชมผลไม้ไทยว่า เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยหลายชนิด และนึกไม่ถึงว่าประเทศไทยจะมีกล้วยหอมไทยที่อร่อย เพราะที่ผ่านมาได้กินแต่ผลไม้ไทยชนิดอื่นที่อร่อย แต่ยังไม่เคยกินกล้วยหอมไทย
นอกจากนี้ ผู้แทนการค้าไทย ได้ขอความอนุเคราะห์ฝ่ายญี่ปุ่นประชาสัมพันธ์เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่นร่วมสนับสนุนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ณ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (2026) รวมทั้งขอความอนุเคราะห์ฝ่ายญี่ปุ่นในการสนับสนุนการประมูลสิทธิ์จัดมหกรรมพืชสวนโลก ณ จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2572 (2029) (ในระดับ A1) ต่อไป ทั้งนี้ หากประเทศไทย ได้รับสิทธิในการจัดมหกรรมพืชสวนโลก ณ จังหวัดนครราชสีมา ขอเรียนเชิญฝ่ายญี่ปุ่นเข้าร่วมจัดงานดังกล่าว
ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวขอบคุณญี่ปุ่นที่อนุญาตให้นำเข้ามังคุดจากประเทศไทยโดยมาตรการทางเลือก(ไม่ต้องอบไอน้ำ)โดยฝ่ายไทยจะปฏิบัติ ตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดต่อไป และขอความอนุเคราะห์กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ในการอำนวยความสะดวกการประสานงานเรื่องการ จัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจประเมิน (Audit) และการตรวจกักกัน ณ ด่านนำเข้าญี่ปุ่น เช่นนี้ต่อไปในอนาคต พร้อมขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนญี่ปุ่นทานมังคุด “ราชินีผลไม้ไทย” มากขึ้นอีกด้วย