อย.นำเครือข่ายประชาชนดูงาน “กัญชาครบวงจรบุรีรัมย์” 

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้ทุกส่วนของ “กัญชา กัญชง”ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติด

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำถึงนโยบายรัฐบาลในการนำส่วนของ “กัญชา กัญชง” มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนโดยไม่มีการสนับสนุนให้ใช้กัญชา กัญชง ในทางที่ไม่เหมาะสม

290689499 133121019396687 3296665854556768100 n
ดูงานกัญชา

และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับกัญชา กัญชง บรรลุเป้าหมายเป็นผลสำเร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลในการใช้ “กัญชา กัญชง “อย่างปลอดภัยไปยังประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้คณะทำงานภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนผู้บริโภคเป็นเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกับ อย. ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

และเพื่อให้คณะทำงานภาคประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง อย.ได้นำคณะทำงานภาคประชาชนลงพื้นที่ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงทางการแพทย์ ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ณ วิสาหกิจชุมชนเพ ลา เพลิน โรงพยาบาลคูเมือง และโครงการนำร่องโนนมาลัยโมเดล จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้คณะทำงานที่ได้สัมผัสสถานที่จริงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เล็งเห็นถึงประโยชน์จากกัญชา กัญชง ในการนำไปรักษาโรคและใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ข้อมูลวิชาการต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ – กัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ไปเผยแพร่ต่อประชาชน เครือข่ายคณะทำงานภาคประชาชนกับหน่วยงานสาธารณสุข ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ต่อไป

ก่อนหน้านี้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยกับกัญชาเสรี” หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา มีข่าวการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอันตราย

โดยเมื่อถามว่า หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ประชาชนรู้สึกวิตกกังวลมากน้อยเพียงใด พบว่า อันดับ 1 ตอบว่า ค่อนข้างวิตกกังวล 37.78% อันดับ 2 วิตกกังวลมาก 32.85% อันดับ 3 ไม่ค่อยวิตกกังวล 16.27% อันดับ 4 ไม่วิตกกังวล 13.10%

เมื่อถามประชาชนว่าการปลดล็อกกัญชา ณ วันนี้ คิดว่ามีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน อันดับ 1 ตอบว่า มีผลเสียมากกว่า 52.76% อันดับ 2 ผลดีและผลเสียพอ ๆ กัน 30.17% และอันดับ 3 มีผลดีมากกว่า 17.07%

ส่วน “ผลดี” ของการปลดล็อกกัญชา พบว่า อันดับ 1 ตอบว่า ใช้ประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์อันดับ 2 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และอันดับ 3 ตอบว่า ช่วยลดรายจ่ายด้านยารักษาโรคบางประเภท

ส่วน “ความกังวล” ที่มีต่อการปลดล็อกกัญชา พบว่า อันดับ 1 ตอบว่า ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม อันดับ 2 เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อยากรู้อยากลอง อันดับ 3 การไม่มีแนวทางปฏิบัติ/กฎหมายลูกรองรับที่ชัดเจน