ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ ครั้งที่ 1 /2567 โดยมี ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรสวนลำไย เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meetings)
สำหรับการประชุมในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในการผนึกกำลังร่วมบูรณาการส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างความหลากหลายทางสายพันธุ์ลําไย เพื่อเป็นการต่อยอดผลผลิตและสร้างคุณค่าใหม่เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนการผลิตลำไยคุณภาพปลอดศัตรูพืชกักกัน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลไก “คณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการผลผลิตลำไยคุณภาพ” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการเพาะปลูกและพัฒนาผลผลิตลำไยของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งรักษาเสถียรภาพโดยรวมของการประกอบกิจการเกี่ยวกับลำไยของเกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความมั่นคงในอาชีพการปลูกและผลิตลำไยที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด รวมถึงมีการปรับปรุงระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถกำกับปริมาณและคุณภาพของสินค้าลำไยให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนให้มีการศึกษาและทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการชะลอการขายลำไยสดช่อ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ และลดการกระจุกตัวของผลผลิตในตลาด
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 คณะ พร้อมทั้งรับทราบผลการบริหารจัดการผลไม้ (ลำไย) พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตลำไย (ภาคเหนือ) มีปริมาณทั้งหมด 633,141.53 ตัน แบ่งเป็นลำไย (สดช่อ) 167,315.61 ตัน และลำไย (รูดร่วง) 465,825.92 ตัน ซึ่งมีราคาลำไยสดช่อ เกรด AA+A ช่วงกลางฤดูกาล (28 กรกฎาคม– 3 สิงหาคม 2566) มีราคาสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 33.85 บาท/กก.