รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมการดำเนินการจัดงาน"ประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์" จังหวัดอุทัยธานี พร้อมทั้งมอบนโยบายแนวทางในการดำเนินการด้านต่าง ๆ
โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมณ ห้องประชุมมหาชนก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการติดตามความพร้อมในการจัดงาน “ประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์” จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 กรกฎาคม 2565 ณ วิทยาลัยเทคนิคอุทัยธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมหลัก 3 ส่วน ได้แก่ การประชุมวิชาการทางการแพทย์ มหกรรมกัญชาและกัญชง และคลินิกกัญชาทางการแพทย์
เป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ภาคีเครือข่ายรวมถึงภาคเอกชน สร้างความรู้ความเข้าใจบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และผู้ประกอบการ หลังปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ส่งเสริมการดูแลรักษาตนเองอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย ต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย
ทั้งนี้ “กัญชา” เป็นหนึ่งในพืชที่มีสารสำคัญอยู่ภายใน มนุษย์รู้จักพืชชนิดนี้นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยากันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยหนึ่ง ต่อมาเมื่อกัญชาถูกควบคุมให้เป็นยาเสพติดจึงถูกระงับการใช้ในวงการแพทย์ไป แต่ก็ยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยใช้เป็นยารักษาอาการบางอย่างด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่ จนเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ ได้มาไขปริศนาจนเกิดเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์สมัยใหม่ จน “กัญชา” กลับมาเป็นพืชที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง รวมถึงในประเทศไทยได้อนุญาตให้ ปลูกและนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และปลดล็อกให้บางส่วนของกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจาก พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา กระทรวงสาธารณสุขจึงออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ
(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย
(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”
แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ“บังคับให้จดแจ้ง”ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น เรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด