กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดันขึ้น ทะเบียน GI สินค้าไทย 3 รายการ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย สับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์ ในตลาดญี่ปุ่น เผยล่าสุดญี่ปุ่นตรวจสอบคำขอรับความคุ้มครองแล้ว มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจดูแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิตปลายปีนี้ ตั้งเป้าหลังขึ้นทะเบียน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ของญี่ปุ่น ผลักดันการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าไทยจำนวน 3 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และสับปะรดห้วยมุ่น จังหวัดอุตรดิตถ์ ในตลาดญี่ปุ่น
โดยปัจจุบันได้ตรวจสอบคำขอรับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสินค้า 3 รายการดังกล่าวของไทยในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเดินทางมาไทย เพื่อลงพื้นที่ดูแหล่งเพาะปลูกและแหล่งผลิตสินค้า GI ดังกล่าวในช่วงปลายปี 2565
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้สินค้า GI ไทยได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม รวม 7 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน และมะขามหวานเพชรบูรณ์
“การได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยในต่างประเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสทางการค้าให้กับสินค้า GI ไทย ไปยังตลาดต่างประเทศ นำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยสินค้า 3 รายการที่กำลังผลักดันจด GI ในตลาดญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยกว่า 1,200 ล้านบาท นายสินิตย์กล่าว
สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่น ที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นและมีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 1368
สำหรับ “กาแฟดอยตุง”เป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีแหล่งปลูกที่ทำให้ได้เมล็ดกาแฟคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเป็นที่ปรึกษาเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน รวมทั้งช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง
ส่วน “กาแฟดอยช้าง” เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระราชดำริตั้งแต่ปี 2512 ให้เกษตรกรบนพื้นที่ดอยสูงต่างๆ ทางภาคเหนือได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงชาวไทยภูเขาบนดอยช้างให้มีอาชีพที่ยั่งยืนมั่นคง แก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น
ต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์อะราบิกาที่ในหลวง ร.9 พระราชทานให้ชาวบ้านดอยช้างจำนวน 40 ครอบครัวในปี 2512 ทำให้ทุกวันนี้พวกเขามีอาชีพที่มั่นคง เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ทั้งยังทำให้กาแฟพระราชทาน กลายเป็นกาแฟที่ดีมีคุณภาพระดับโลก
เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลกในชื่อ “กาแฟดอยช้าง” ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกรในหมู่บ้านดอยช้างหลายพันครัวเรือน
ด้วยพื้นที่ของดอยช้างตั้งอยู่ที่ความสูง 1,000-1,700 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางดินและมีอากาศเย็นสบาย จึงเหมาะแก่การปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา ทั้งยังปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยต้องอาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่จึงจะให้ผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ
ดังนั้นเกษตรกรบ้านดอยช้างจึงช่วยกันและพยายามสร้างและรักษาป่า จนได้ชื่อว่าปลูกกาแฟสร้างผืนป่า นอกจากนี้พวกเขายังควบคุมกระบวนการผลิตจากต้นน้ำไปจนสู่ถ้วยด้วยความใส่ใจอย่างที่สุด
กาแฟดอยช้างได้พัฒนากระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จนได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ว่าเป็นกาแฟชนิดพิเศษคุณภาพสูง ที่มีเอกลักษณ์ด้านกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว คือมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เจือรสเปรี้ยวจากกรดของผลไม้ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่ที่ปลูกกาแฟ ทำให้ดื่มแล้วชุ่มคอ มีรสชาติกลมกล่อม มีกาเฟอีนต่ำ
สับปะรดห้วยมุ่น เป็นผลไม้เปลือกบาง เนื้อผลสีเหลืองน้ำผึ้ง กลิ่นหอม รสหวานฉ่ำแบบธรรมชาติ กินไม่กัดลิ้นหรือมีกากใยช่วยในระบบการย่อยที่ดีต่อสุขภาพ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปลูกง่าย กำไรงาม เกษตรกรได้จัดการปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมเพื่อผลิตให้ได้ผลสับปะรดห้วยมุ่นคุณภาพนำออกสู่ตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จำนวนมากนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง