นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมการข้าวมีการรับรองพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวแล้วทั้งสิ้น จำนวน 172 พันธุ์ ครอบคลุมทุกชนิดและประเภทข้าวที่ปลูกในนิเวศน์การทำนาของประเทศไทย ซึ่งข้าวรับรองพันธุ์ของกรมการข้าวมีหลายพันธุ์ที่มีศักยภาพและแนะนำให้เกษตรกรนำไปปลูก เนื่องจากการรับรองพันธุ์นั้นได้ผ่านขั้นตอนการทดสอบผลผลิต ทดสอบคุณภาพเมล็ดทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งทดสอบความต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าวในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ผลผลิตที่ได้เป็นค่าเฉลี่ยของพื้นที่ทดสอบทั้งประเทศ (ผลผลิตที่ความชื้น 20 – 25%) และในปัจจุบันกรมการข้าวได้รับรองพันธุ์ข้าวตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้ใช้ประโยชน์ของข้าวแต่ละชนิด เกษตรกรหรือผู้ใช้ประโยชน์สามารถเลือกพันธุ์ข้าวไปปลูกได้ตามความต้องการและสภาพพื้นที่ปลูกข้าว ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า การรับรองพันธุ์ข้าวในอดีตนั้นใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์หรือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวประมาณ 10 – 12 ปี เพื่อให้นักวิจัยมั่นใจในพันธุ์ข้าวที่เตรียมรับรองพันธุ์ว่ามีความสม่ำเสมอคงตัวทางพันธุกรรม และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างในพื้นที่ปลูกข้าวที่แตกต่างกัน ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในปัจจุบันกรมการข้าวได้พยายามลดขั้นตอนในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยการใช้เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ให้มีเวลาสั้นลง เช่น เทคนิคการกลายพันธุ์ การใช้ anther culture การฉายรังสี การใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกข้าว การเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing) เป็นต้น
“วิธีการเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ เป็นการลดขั้นตอนการผสมพันธุ์เพื่อสร้างความแปรปรวนในประชากรข้าว สามารถลดระยะเวลาลงได้ 1 ฤดูปลูก ส่วนขั้นตอนการคัดเลือกนั้นมีความสำคัญด้วยเช่นกัน และจำเป็นต้องคงไว้เพื่อให้ข้าวพันธุ์ใหม่มีลักษณะที่พึงประสงค์และมีเสถียรภาพของพันธุ์ในด้านต่างๆ เช่น ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ต้านทานต่อศัตรูข้าวที่สำคัญ การเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ธาตุอาหาร การเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ตลอดจนคุณภาพการหุงต้มและรับประทาน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการรับรองพันธุ์ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ก่อนที่จะได้เป็นพันธุ์ใหม่ไปเผยแพร่ และแนะนำให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูก เป็นขั้นตอนของการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ และความน่าเชื่อถือของข้อมูลสนับสนุนสายพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ โดยผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นระบบจากคณะกรรมการ ที่พิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และคำแนะนำสำหรับการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรที่จะนำสายพันธุ์นั้นไปปลูกต่อไป”
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณารับรองพันธุ์จะมีคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว ซึ่งมีอธิบดีกรมการข้าวเป็นประธาน ประกอบด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ จากกรมการข้าว ได้แก่ สาขาปรับปรุงพันธุ์ โรคพืช กีฏวิทยา ปฐพีวิทยา เทคโนโลยีการผลิต วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป วิทยาการเมล็ดพันธุ์และสถิติศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าว ได้แก่ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ ดังนั้น พันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว จึงเป็นพันธุ์ที่มีข้อมูลถูกต้อง น่าเชื่อถือ ทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์และการผลิต ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ได้จากการรับรองพันธุ์เป็นพันธุ์ที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์ต้องการ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย