ช่วงปลายเดือน พ.ย.2566 ที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง คือ “ผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก” หรือ The World’s Best Rice 2023 ในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ณ เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ จัดโดย The Rice Trader (TRT)
ผลการจัดประกวดครั้งนี้ ปรากฏว่า “ข้าว ST25” จากประเทศเวียดนาม เป็น “ผู้ชนะการแข่งขัน” ตามด้วยข้าวจากกัมพูชา และอินเดีย
ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่เวียดนาม ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ” ในการแข่งขัน และถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ที่ข้าวไทย ไม่ได้แชมป์ในการประกวดข้าวโลก
จากนั้น สื่อไทยได้เริ่มรายงานข่าวผลการประกวด ว่า ไทย “เสียแชมป์” บ้าง ข้าวไทย “ไม่ติด 1 ใน 3” บ้าง และ “ลุกลาม-บานปลาย” จนเป็นข่าวใหญ่โต ทำให้หลายต่อหลายฝ่ายตั้ง “คำถาม” ถึงรัฐบาล จะ “แก้ไขปัญหานี้” อย่างไร และ “อนาคตข้าวไทย” จะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก
ขณะที่ “ดรามา” กำลังเริ่มจะขยายวง “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ได้ออกมา “ตัดจบ” พร้อม “ชี้แจง” ว่า ที่ข้าวไทยไม่เข้ารอบ และไม่ติด 1 ใน 3 ของข้าวที่ชนะการประกวดในปีนี้ เพราะ “ไม่ได้ส่งข้าวไทย” เข้าไปประกวด ทำให้ไม่ปรากฏชื่อข้าวไทยในการประกวดครั้งนี้
สำหรับสาเหตุที่ไม่ส่งประกวด “นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” บอกว่า รู้สึกว่าการประกวด “ไม่ค่อยโปร่งใส” เพราะรู้สึกแปลก ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ “ข้าวผกาลำดวน” ของกัมพูชาได้แชมป์ ก็เลยตัดสินใจว่าปีนี้ “จะไม่ส่ง” และปีต่อไป ก็จะ “ไม่ส่ง” เข้าประกวดอีก เนื่องจากการประกวด กลายเป็นเรื่องธุรกิจไปแล้ว ทำไมจะต้องไปยกย่องเชิดชู
“เรายังแปลกใจเลย ที่ตอนเขาประกวดกัน บอกว่ามีข้าวจากประเทศไทยด้วย จะมีได้อย่างไร เพราะเราไม่ได้ส่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เอง ก็ตกใจในตอนแรกว่าข้าวไทยไม่ติดอันดับเลย แต่ได้เรียนปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วว่าเราไม่ส่ง ไม่ใช่ส่งแล้วตกรอบ”
ทั้งนี้ หากย้อนอดีตไปตั้งแต่การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ปี 2552 จนถึงครั้งล่าสุด ครั้งที่ 15 ปี 2566 ไทยสามารถ “คว้าแชมป์โลก” มาได้รวม 7 ครั้ง
เริ่มจากประกวดครั้งแรกปี 2552 “ข้าวหอมมะลิไทย” คว้าแชมป์ได้เป็นประเทศแรก ปี 2553 ไทยป้องกันแชมป์ไว้ได้ ปี 2554 เมียนมาแชมป์ ปี 2555 กัมพูชาแชมป์ ปี 2556 กัมพูชาแชมป์ร่วมกับสหรัฐฯ ปี 2557 ไทยเป็นแชมป์ร่วมกับกัมพูชา ปี 2558 สหรัฐฯ เป็นแชมป์ ปี 2559 ไทยเป็นแชมป์ ปี 2560 ไทยเป็นแชมป์ ปี 2561 กัมพูชาเป็นแชมป์ ปี 2562 เวียดนามเป็นแชมป์ ปี 2563 ไทยเป็นแชมป์ ปี 2564 ไทยเป็นแชมป์ ปี 2565 กัมพูชาเป็นแชมป์ และปี 2566 เวียดนามเป็นแชมป์
สรุป “ไทย” เป็นแชมป์แบบประเทศเดียว 6 ครั้ง เป็นแชมป์ร่วมกับกัมพูชา 1 ครั้ง รวม “เบ็ดเสร็จ” เป็นแชมป์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากการประกวดทั้งหมด 15 ครั้ง
ส่วน “กัมพูชา” เป็นแชมป์เดี่ยว 3 ครั้ง แชมป์ร่วม 2 ครั้ง กับสหรัฐฯ และไทย “สหรัฐฯ” เป็นแชมป์เดี่ยว 1 ครั้ง และแชมป์ร่วม 1 ครั้ง กับกัมพูชา “เมียนมา” เป็นแชมป์เดี่ยว 1 ครั้ง และ “เวียดนาม” เป็นแชมป์เดี่ยว 2 ครั้ง
หากดูตาม “สถิติ” ข้าวหอมมะลิไทย ได้แชมป์มากถึง 7 ครั้ง เป็น “เครื่องพิสูจน์” ได้ชัดเจนว่า ข้าวไทย ไม่ได้ “ด้อยกว่า” ข้าวของประเทศอื่นเลย
จะมีก็แค่คนไทยบางประเภท ที่จ้องแต่ “ด้อยค่า” ข้าวของตัวเอง
ไม่อยากจะ “โพกัส-เจาะจง” ลงไปว่ามีใครบ้าง แต่สามารถหาข่าวอ่านได้ แค่ “กูเกิลดู” ก็จะรู้ว่า “ใครรัก-ใครชัง”
ทุกวันนี้ “ข้าวไทย” ยังคงได้รับการ “ยอมรับ” ในตลาดโลก ว่า “คุณภาพ-มาตรฐาน” ดีที่สุดในโลก ตลาดยังคงมี “ความต้องการ” ซึ่งเห็นได้จาก “ยอดการส่งออก” ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 ไทยส่งออกได้แล้วกว่า 6.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.4% คาดว่าทั้งปี 2566 ยอดน่าจะ “ทะลุ” ไปกว่า 8 ล้านตัน
ไม่เพียงแค่นั้น “กระทรวงพาณิชย์” ยังได้ผนึกกำลังกับ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” เดินหน้าพัฒนา “พันธุ์ข้าว”ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งข้าวพื้นแข็ง พื้นนุ่ม ข้าวหอมมะลิและข้าวคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2563-67” ตั้งเป้าไว้ 12 สายพันธุ์
ถึงตอนนี้ พัฒนาพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 21 สายพันธุ์ “เกินเป้า-ทะลุเป้า” ไปแล้ว และหลาย ๆ พันธุ์ กำลังอยู่ในช่วงทดลองปลูกในแปลงเกษตรกร คงไม่ช้า ไม่นาน จะมีข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาป้อนสู่ตลาด
ไทยมีการ “ปรับตัว” ในเรื่องข้าวมาอย่างต่อเนื่อง พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ข้าวไทย” ไม่แพ้ชาติใดในโลก
แต่ก็ไม่อยากให้ “มั่นใจ” จน “เหลิง” เพราะ “คู่แข่ง” กำลังตามมาติด ๆ ชนิด “หายใจรดต้นคอ”
“ไทยช้า ไทยพลาด” แม้แต่นิดเดียว
มีโอกาส “ถูกแซง” ได้ทุกเมื่อ
ที่มา commerce news agency