เคาะแล้ว..”กมธ.กัญชา” ให้ปลูก”กัญชา”บ้านละไม่เกิน 10 ต้น -ปลูกมากกว่า 20 ไร่ ต้องเสียผลตอบแทนให้รัฐ

20 มิ.ย.- ที่รัฐสภานายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กัญชา กัญชง(ฉบับที่…) พ.ศ. … แถลงถึงการประชุมของ กมธ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการพิจารณา“ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ” ในช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ว่า “การใช้กัญชา” ที่ห้ามใช้ในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่ง “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง(ฉบับที่…)พ.ศ. ” มีการควบคุมการใช้ ที่สอดรับกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ออกมาด้วย ดังนั้นขอให้ประชาชนและสถานศึกษาคลายกังวล เพราะทาง กมธ. รับรู้ไม่ต่างกัน

%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%98
กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ฯ

นายปานเทพ กล่าวว่า ขณะนี้มีการเข้าถึงแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” กว่า 39 ล้านครั้ง และมีผู้จดแจ้งขอปลูกไม่น้อยกว่า 9 แสนราย ทั้งนี้ กมธ. เสียงข้างมากได้วางหลักการและกรอบการปลูกในครัวเรือน ว่า ให้ปลูกได้ไม่เกิน 10 ต้น ต่อครัวเรือน โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้คนตัวน้อยได้ประโยชน์สูงสุดจากกัญชา และเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยสุด

ทั้งนี้ กมธ. ได้กำหนดการปลูกทางเศรษฐกิจเป็น 3 กลุ่ม

คือ 1.ขนาดเล็กปลูกไม่เกิน 5 ไร่ โดยจะลดค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดหรือไม่ควรมีเลย

2.ขนาดกลางประมาณ 5 – 20 ไร่ มีขั้นตอนการขออนุญาตเพิ่มขึ้นมาพอประมาณ

และ 3.ขนาดใหญ่ มากกว่า 20 ไร่ขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่หวังผลทางธุรกิจ จึงต้องมีผลตอบแทนให้รัฐมากขึ้น

ส่วนการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ ทาง กมธ. เห็นพ้องว่าการปลูกกัญชาของทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อื่น ๆ จะได้รับการคุ้มครองในฐานะเพียงจดแจ้งเท่านั้น และจะเหมือนกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ยืนยันว่า กมธ. จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน และเป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้มากที่สุด

เมื่อวานนี้( 20 มิ.ย. ) นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นถึง นโยบายกัญชาเสรี ว่า แม้นโยบาย”กัญชาเสรี“จะเปิดโอกาสให้มีการใช้สารสกัดจาก “กัญชา”ในทางการแพทย์และเพื่อความจำเป็นทางสุขภาพได้ง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและการรักษาผู้เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้ “สารสกัดจากกัญชา” แต่หากต้องการให้สามารถใช้ “กัญชา” ในการผสมอาหาร เครื่องดื่มและใช้เสพเพื่อสันทนาการแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบ

มีการคาดการณ์ว่า ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลก อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.9-2.1 ล้านล้านบาท ภายในปี ค.ศ. 2025 การทำให้“กัญชา”เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรช่วยกำหนดแนวทางที่เหมาะสมว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดต่อสังคม คุณภาพชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจ

นายอนุสรณ์ ยังชี้ว่า หากต้องการเดินหน้านโยบายกัญชาเสรีต่อไป ต้องมีระบบ กลไกมาตรการและแนวทางในการควบคุม “กัญชา”ซึ่งถือเป็นสินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพ

สินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพ (Hazardous Commodities) อันได้แก่ ฝิ่น (เคยถูกกฎหมาย) กัญชา ยาสูบ (บุหรี่) สุรา และสารเสพติดทั้งหลาย นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพพิจารณาว่าสินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพเหล่านี้เป็นสินค้าที่หากมีการซื้อขายในตลาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือความตายในอนาคต รวมทั้งความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาผลิตภาพแรงงานลดลง