10 เดือนแรกส่งออกโลก ไทยรั้งอันดับ 3 ส่งออกได้ 6.9 ล้านตัน ขณะที่ ‘เวียดนาม’ แซงขึ้นแท่นอันดับ 2 พบราคา ‘ข้าวขาว’ เวียดนามแซงไทยแล้ว เหตุคุณภาพดีกว่า-ความต้องการซื้อสูง ด้าน ‘นายกสมาคมส่งออกข้าวฯ’ ชี้ค่าเงินบาท ‘แกว่งตัวสูง’ ทำให้ทำงานลำบาก
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยแพร่ข้อมูลการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าว 5 อันดับแรกของโลก พบว่าในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.2566) ไทยส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยมีปริมาณส่งออก 6.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.4% จากปีก่อน ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออก 7.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.9% จากปีก่อน
ส่วนอินเดียนั้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว แต่ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ อินเดีย ยังคงเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออก 16 ล้านตัน ลดลง 13.6% จากปีก่อน ขณะที่ปากีสถาน ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออก 2.24 ล้านตัน ลดลง 34.1% จากปีก่อน และสหรัฐ ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออก 1.69 ล้านตัน ลดลง 11.1% จากปีก่อน
นอกจากนี้ จากข้อมูลสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยพบว่า ในรอบสัปดาห์ล่าสุด (ณ วันที่ 29 พ.ย.2566) ราคาข้าวขาวของเวียดนามสูงกว่าราคาข้าวขาวจากไทย โดยข้าวขาว 5% ของเวียดนาม มีราคาอยู่ที่ 658-662 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวขาว 5% ของไทย มีราคา 640 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และข้าวขาว 25% ของเวียดนาม มีราคา 643-647 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวขาว 5% ของไทย มีราคา 608 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิเวียดนาม (Vietnam Jasmine) อยู่ที่ 748-752 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ขยับเข้าใกล้ราคาข้าวหอมมะลิไทย (Thailand Hommali 100%) ที่มีราคาอยู่ที่ 858 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวขาวของเวียดนามดีกว่าราคาข้าวขาวจากไทยเนื่องจากขณะนี้มีคำสั่งซื้อข้าวเวียดนามสูงกว่าปริมาณการผลผลิตในประเทศ ทำให้เวียดนามต้องสั่งซื้อข้าวจากที่อื่นไปส่ง แม้กระทั่งวันนี้เวียดนามเองมีการซื้อข้าวจากไทยไปส่งอินโดนีเซียก็มี และอีกสาเหตุที่ข้าวขาวเวียดนามมีราคาดี เพราะข้าวมีคุณภาพดี
“ราคาเขาดีกว่าเรา เพราะคุณภาพของเขาดี เมื่อก่อนเขาปลูกข้าวชนิดเดียว ข้าวขาว 5% ซึ่งเป็นข้าวแข็ง แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนหมด เขามีข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาและเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะข้าวนุ่ม เขาขายดีมาก ฟิลิปปินส์ ซื้อขาย 3 ล้านตัน แต่ซื้อของไทยเพียง 1 แสนตัน และข้าวหอมแบบไม่ไวแสงของเขาดีกว่าเรา และดีถูกกว่าเรา เขามีสินค้าในหลายเซ็กเมนต์ ของแต่ละชนิดมีคนซื้อตลอดเวลา เขาถึงทำราคาได้ดี” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ ย้ำว่า “น่าจะพูดได้ว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ราคาข้าวขาวเวียดนามสูงกว่าไทย เพราะแม้ว่าของเขาเป็นข้าว 5% เหมือนกัน แต่เป็นข้าวนุ่ม ราคาต้องแพงกว่าเราแน่นอน ส่วนข้าวขาว 25% ของเขาที่แพงกว่าไทย เป็นเพราะข้าวที่เขาเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ มันไม่พอ”
ร.ต.ท.เจริญ ยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าราคาข้าวจากไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ แล้วราคาข้าวไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่แกว่งตัวมาก และค่าเงินบาทที่แกว่งตัวมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกข้าวทำงานลำบาก เพราะค่าเงินบาทที่แกว่งตัว 3-4% มีผลต่อราคาข้าว 20-30 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
“เงินบาทจาก 36 บาท แกว่งลงมาเหลือ 34 บาทกว่า ค่าเงินที่แกว่งมากอย่างนี้ แล้วจะไปตั้งราคาซื้อขายได้อย่างไร ถ้าค่าเงินเป็นแบบนี้ เปลี่ยนไปที 3-4% สมมติว่าข้าวตันละ 600 เหรียญ ก็ 20-30 เหรียญไปแล้ว เรื่องเงินบาท พูดมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ของไทยมันแกว่งสูงมาก อินเดียเขาอยู่ที่ 82-83 รูปีต่อยูเอสดอลลาร์ ก็อยู่อย่างนั้น ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไรเวียดนามก็เหมือนกัน แกว่งแคบมาก แต่ไทยอาทิตย์ที่แล้ว 36 บาท อาทิตย์ต่อมาเหลือ 34 บาทกว่า วันนี้กลับขึ้นไป 35 บาทอีก อย่างนี้มันทำงานไม่ได้ เราพูดมาตั้งนานแล้ว แต่มันทำอะไรไม่ได้ เขาบอกให้ไป manage (จัดการ) แต่ให้ manage คุณมาสอนผมหน่อยสิ” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ ระบุว่า ในปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้เกิน 8.5 ล้านตัน โดยตัวเลข 10 เดือนแรกไทย ส่งออกข้าวได้ 6.9 ล้านตัน แต่ถ้าดูจากตัวเลขส่งออกข้าวอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าตัวเลข 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.2566) ไทยส่งออกข้าวได้แล้วเกือบ 8 ล้านตัน โดยเฉพาะในเดือน พ.ย.2566 ไทยส่งออกข้าวได้สูงถึง 9 แสนตัน และปีนี้ถือเป็นปีทองของชาวนา โดยเฉพาะชาวนาในภาคกลาง เพราะราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นมาเกินตันละ 1 หมื่นบาทแล้ว
“ปีนี้เป็นปีทองของชาวนา ผมพูดถึงชาวนาภาคกลางนะ โดยข้าวทั่วไป (ข้าวเปลือก) เขาขายได้หมื่นกว่าบาท ซึ่งไม่เคยมีมาหลายสิบปีแล้ว” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่าในเดือน พ.ย.2566 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 8-9 แสนตัน และคาดว่าทั้งปี 2566 ไทยจะส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 8.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบข้าวในช่วงปลายปีจำนวนมาก ขณะที่ผู้นำเข้าที่สำคัญในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดประจำในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ที่มีการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาว ข้างนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า
ประกอบกับในช่วงนี้ผลผลิตข้าวฤดูใหม่ของไทยออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และยังคงต่ำกว่าราคาข้าวของเวียดนามจึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ราคาข้าวไทยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 29 พ.ย.2566 อยู่ที่ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม และปากีสถานอยู่ที่ 663-667 และ 598-602 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 498-502 และ 546-550 ดอลล่าสหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ
ที่มา-สำนักข่าวอิศรา