วันที่ 19 มิุนายน 65 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการ“ปลดล็อกกัญชา”ออกจากบัญชียาเสพติด
การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ “การปลดล็อกกัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย
พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.81 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ”กัญชา”เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้
รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ “กัญชา” เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนยังไม่มีความรู้เรื่องกัญชามากพอและภาครัฐไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาได้อย่างทั่วถึง
ร้อยละ 23.74 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์มากกว่าให้โทษ สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้
และร้อยละ 16.56 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อาจเกิดการเสพติดกัญชาส่งผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนอาจนำไปใช้ในทางที่ผิด
ด้านความกังวลของประชาชนต่อปัญหาการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมในหมู่เด็กและเยาวชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.44 ระบุว่า กังวลมาก รองลงมา ร้อยละ 29.62 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 16.95 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 10.99 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรูปแบบการใช้ “กัญชา”ของคนไทยในอนาคต พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.05 ระบุว่า ใช้ทางการแพทย์ รองลงมา ร้อยละ 31.15 ระบุว่า ใช้เพื่อการสันทนาการ เช่น การสูบ หรือเสพ ร้อยละ 22.21 ระบุว่า ใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มและร้อยละ 12.59 ระบุว่า ใช้เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้เมื่อถามถึงประสบการณ์เกี่ยวกับ “กัญชา” ของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 67.02 ระบุว่า ไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา ขณะที่ ร้อยละ 32.98 ระบุว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา (จำนวน 432 หน่วยตัวอย่าง)
โดยในจำนวนนี้ ตัวอย่างร้อยละ 60.65 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม รองลงมา ร้อยละ 30.56 ระบุว่า การเสพหรือสูบกัญชา ร้อยละ 21.06 ระบุว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ร้อยละ 6.94 ระบุว่า การปลูกกัญชา ร้อยละ 1.39ระบุว่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในเชิงพาณิชย์ และร้อยละ 0.23 ระบุว่า การค้ากัญชา