นายพัด ไชยวงค์ นับเป็นเกษตรกรผู้เสียสละและให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม จึงได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ทั้งการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิตข้าว การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทำบัญชีครัวเรือน การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมและด้วยผลงานที่ปรากฏชัด จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น ประชาสัมพันธ์แปลงใหญ่ระดับประเทศ ประธานแปลงใหญ่ จังหวัดเชียงใหม่ ประธานวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่อำเภอหางดง และอื่นๆ จากผลงานและความสำเร็จ จึงทำให้ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2565 อย่างเต็มความภาคภูมิ
นายพัด เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2565 และประธานศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้เริ่มต้นอาชีพทำนาในปี 2535 ช่วงแรกยังเน้นการทำนาแบบใช้สารเคมี
ต่อมาปี 2551 ได้เริ่มศึกษาเรียนรู้และปรับเปลี่ยนมาทำนาธรรมชาติจนถึงปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำงานภายใต้แนวคิด ทำการเกษตรแบบยั่งยืน เพิ่มพูนผลกำไร รักษาระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายพัด กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 38 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นา 20 ไร่ ที่เหลืออีก 18 ไร่เป็นที่อยู่อาศัย และไร่นาสวนผสม โดยการทำนาจะเน้นแบบประณีต มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานของผลผลิต ขณะนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าว GAP จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอยู่ระหว่างขอการรับรองจากกรมการข้าว
ทั้งนี้จะปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง คือ นาปี และนาปรัง โดยเน้นการปักดำ เพื่อให้ช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ และลดการระบาดของศัตรูข้าว ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์สันป่าตอง 1 ได้ผลผลิตเฉลี่ย1,051 กก.ต่อไร่ ที่ความชื้น 15 % นับเป็นปริมาณที่สูงกว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ที่ 616 กก.ต่อไร่ สำหรับแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้มาจากศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ และผลิตเมล็ดพันธุ์เอาไว้ใช้เอง
การจัดการดูแลข้าวที่ปลูก จะคำนึงถึงการทำเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำ จะใช้วิธีแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการใช้น้ำและลดการระบาดของศัตรูข้าว ส่วนการใส่ปุ๋ย จะเน้นใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยสั่งตัดเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงการใช้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR (Plant Growth Promoting Rhizobacteria) และปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มผลผลิต ขณะที่การป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช จะใช้สารชีวภัณฑ์ ส่วนสารชีวภาพ ใช้เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าว เพื่อลดการใช้สารเคมี และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้ว จะไถกลบตอซังและใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง นายพัด กล่าว
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ยังกล่าวถึงการขยายผลไปสู่ชุมชนว่า ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนาในพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสันป่าตอง 1 จำหน่าย ซึ่งดำเนินการในรูปแบบของศูนย์ข้าวชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของกรมการข้าว ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 30 ราย พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ รวม 387 ราย พื้นที่ 3,045 ไร่
ส่วนการจัดการด้านตลาด นายพัด กล่าวว่า นำนโยบายตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ ขณะเดียวกันยังเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวออกจำหน่าย เช่น ข้าวบรรจุถุงแบบสุญญากาศ ข้าวกล้อง ข้าวแต๋น ทองม้วน ขนมปั้นขลิบและข้าวต้มมัด และยังได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย