“ถ้าน้ำดี ทุกอย่างก็ต้องดีตามมาด้วย”วราลี แก้วเบี่ยง ผู้ใหญ่บ้านห้วยสา หมู่ 14 ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา บอกอย่างเชื่อมั่นและเมื่อมีน้ำก็เกิดการรวมกลุ่มขึ้นเป็นครั้งแรกของบ้านห้วยสา ชาวบ้านมีมติพร้อมใจตั้งแต่การประชาคมครั้งแรก
นั่นก็คือ กลุ่มผักแปลงรวมห้วยสา (ผักอารมณ์ดี) ที่ให้โอกาสคนที่ไม่มีที่ทำกินมีโอกาสเข้าเป็นอันดับแรก โดยใช้พื้นที่โรงเรียนเก่าที่เคยถูกปล่อยให้รกร้างเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ผักแปลงรวม นอกจากนั้นยังทำโรงเรือนเลี้ยงไก่เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
บ้านห้วยสา หมู่ 14 ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็น 1 ใน 6 หมู่บ้านของจังหวัดพะเยา ที่อยู่ในแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) โดยจังหวัดพะเยา ร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้าไปร่วมดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกด้วยประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการการขยายผลด้วยการเรียนรู้ประสบการณ์การประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ “ขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์” ให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาบ้านเกิดกับคนในพื้นที่
นอกจากเกิดโครงการเร่งด่วนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มีน้ำใช้อย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ ทั้งอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรยังช่วยให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดสร้างรายได้จากผลผลิตของตนเองไปสู่การเกษตรหลังมีน้ำ ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่คนในชุมชนในบ้านห้วยสาปลูกผักเพื่อการบริโภคอยู่แล้ว แต่ได้โอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักปลอดสารพิษโดยปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนวิทยากรมาฝึกอบรมและคัดเลือกพันธุ์ที่ได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด มีนางวราลี แก้วเบี่ยง ผู้ใหญ่บ้านห้วยสา ประสานงานให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมและเริ่มรวมกลุ่มอาชีพชื่อ “กลุ่มผักแปลงรวมบ้านห้วยสา Food For Helth” มีพัฒนาชุมชนฯ กับทางอำเภอเชียงคำ ให้การสนับสนุน
“แม้จะเป็นผักสลัดที่ชาวบ้านที่นี่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ก็พยายามศึกษาเรียนรู้เพราะเป็นผักเศรษฐกิจที่ราคาดี นอกจากนั้นยังทำให้ครอบครัวได้มีโอกาสได้กินผักปลอดสารอีกด้วย” อลิสา สุโลพันธ์ ชาวบ้านห้วยสา ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา หญิงสาวที่เคยไปทำงานต่างจังหวัด เพราะไม่มีที่ทำกิน แต่วันนี้กลับมาอยู่บ้านและร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผักแปลงรวมห้วยสา บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงเพราะแม้เธอจะไม่มีที่ดินทำกิน แต่การได้เข้าร่วมกลุ่มทำให้เธอมีอาชีพ มีกินและมีเหลือพอเก็บทำให้ชีวิตเริ่มมีความหวังมากขึ้น
การปลูกผักปลอดสารพิษยังสามารถช่วยลดปัญหาเดิมที่ชาวบ้านต้องบริโภคพืชผักที่มีสารเคมีจากการการตรวจพบสารพิษในเลือดมาก่อนหน้านี้ เป็นไปตามความต้องการของผู้นำชุมชนในเรื่องดูแลด้านสุขภาพอนามัยของลูกบ้าน ส่วนพื้นที่ที่ใช้ทำเกษตรแบบแปลงรวมเดิมเป็นที่รกร้างในหมู่บ้านที่ไม่ได้ใช้มาปรับให้เป็นแปลงปลูกผัก การปลูกแบบแปลงรวมก็ใช้วิธีให้สมาชิกในกลุ่มฯ ร่วมกันดูแล นอกจากสร้างประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่า ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้หญ้าแห้งในหน้าแล้งที่อาจลุกลามไปยังบ้านเรือนในชุมชน
ปรากฏว่าผักที่ปลูกได้มีคนสนใจมาสั่งจองอย่างต่อเนื่อง ขายได้ราคาตั้งแต่ 70-120 บาทต่อกิโลกรัม ที่ใช้เวลาปลูกประมาณ 27 วัน จากจุดขายที่เป็นผักปลอดสารพิษ ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค อาทิ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด เป็นหลัก
ล่าสุดราคาจำหน่ายหน้าแปลง กิโลกรัมละ 70 บาท หากนำไปส่งที่ตลาดเชียงคำตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป จะคิดกิโลกรัมละ 90 บาท ช่วงฤดูหนาว มีนักท่องเที่ยวแวะไปเที่ยวชุมชน ทางกลุ่มฯ มีผักพร้อมจำหน่าย สามารถซื้อกลับบ้านในราคาที่ไม่แพง รับประกันทั้งความสด และสะอาดปลอดสารเคมี