กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร จึงกำหนดให้มีการรวบรวม และจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตร เพื่อนำมาอนุรักษ์ รื้อฟื้น ประยุกต์ และพัฒนาต่อยอด โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ในปี 2567 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้พิจารณาคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรที่โดดเด่น และมีความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเกษตร เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น นั่นคือ “ภูมิปัญญาเครื่องจักสานจากใบลานทองบ้านท่าฤทธิ์” ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านท่าฤทธิ์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเมื่ออดีตที่ผ่านมาเคยประสบภัยธรรมชาติ (อุทกภัย) ทำให้ผลผลิตทางเกษตรเกิดความเสียหาย เกษตรกรส่วนใหญ่กู้เงินมาลงทุนทำการเกษตรทำให้มีหนี้สินนอกระบบขึ้นมาเมื่อไม่ได้ผลผลิตทำให้เกษตรกรขาดรายได้ มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน โดยการมองหาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คุณบานเย็น สอนดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านลานทอง เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีความรู้ความสามารถด้านการจักสานซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และเห็นว่าในพื้นที่มีต้นลานทองจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความคงทน และเห็นว่าสามารถนำมาทำหัตถกรรม จักสานเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น หมวกคาวบอย หมวกปีกกว้าง กล่องใส่ทิชชู่ กล่องใส่เครื่องประดับ และกระเป๋า เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ออกแบบลวดลายต่างๆ เช่น ลายทิว ลายฉลุ ลายสับปะรด และคิดค้นผลิตภัณฑ์และลวดลายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทางภาคใต้ และต่างประเทศ มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านลานทอง จำนวน 37 ราย
การดำเนินงาน คณะกรรมการได้แบ่งและมอบหมายให้สมาชิกทำงานตามความสามารถขหรือฝีมือของแต่ละบุคคล ส่วนประธานกลุ่มจะดูและเรื่องงานทั่วไป และการรับออเดอร์ต่างๆ สมาชิกแต่ละคนก็จะมีรายได้ที่แตกต่างกันไป เช่น สมาชิกที่ผลิตกล่องใส่เพชรพลอยจะมีรายได้ 1,500-2,500 บาท ต่อเดือน ต่อคน ส่วนสมาชิกที่จักสานหมวกแบบต่างๆ จะมีรายได้ 2,500-3,000 บาท ต่อเดือน ต่อคน ส่วนสมาชิกที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ก็จะมีรายได้ 500-800 บาท ต่อเดือน
คุณบานเย็น เล่าให้ฟังอีกว่า การจักสานหมวกใบลานทองเป็นงานที่ต้องทำด้วยความประณีต ใช้ความตั้งใจและความอดทน ซึ่งขั้นตอนการทำมี ดังนี้
1.จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ใบลานทอง กรรไกร มีดเลาะก้านลาน เครื่องเลียดใบลานทอง หุ่นหมวก วงใน สารฟอกขาวหรือสีย้อมใบลานทอง
2.ตัดยอดลาน นำส่วนใบมาตาก 3-5 แดดให้แห้ง จากนั้นใช้มีดเลาะเอาใบออกจากก้าน นำใบลานทองมาเลียดเป็นเส้นให้ได้ขนาดแตกต่างกัน 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง และเล็ก
3.จากนั้นนำใบลานทองไปแช่ในสารฟอกขาว 3 คืน การเตรียมสารฟอกขาว จะใช้สารฟอกขาวอัตรา 1 กิโลกรัม ใส่ลงไปผสมกับน้ำสะอาด 60 ลิตร ใช้ไม้กวนผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำใบลานทองลงไปแช่ 4.5 กิโลกรัม ต่อครั้ง เมื่อแช่ใบลานทองครบตามกำหนดเวลาแล้ว ได้นำใบลานทองไปล้างน้ำ นำไปผึ่งลมหรือตากแดดให้แห้ง
4.นำใบลานทองที่ตากแห้งแล้วมาขึ้นรูปกับฐานหมวก ทำการจักสานใบลานทองไปตามรูปแบบหมวกที่ได้ออกแบบลวดลายไว้ นำหมวกที่จักสานเสร็จมาทาด้วยแล็กเกอร์หรือน้ำยาเคลือบเงา ตากผึ่งให้แห้ง
5.นำหมวกที่ทำเสร็จและตากแห้งแล้วมาตกแต่งลวดลายด้วยหนังหรือผูกโบเพื่อเติมแต่งให้ได้สีสันสวยสดงดงาม พร้อมนำไปสวมใส่ เป็นของฝาก หรือนำไปจำหน่าย
ลักษณะต้นลานทอง ใบจะมีสีขาว อ่อนนุ่ม ไม่แตกหักง่าย ส่วนต้นลานเขียว ใบจะมีสีขาวอมเขียว และต้นลานป่า ใบเปราะไม่สามารถนำมาแปรรูปได้ ที่บ้านท่าฤทธิ์แห่งนี้มีการปลูกต้นลานทอง 5 ไร่ ในราว 400 ต้น และสมาชิกในชุมชนได้มีการปลูกต้นลานทองเพิ่ม 400 ต้นต่อปี ด้วยการนำเมล็ดไปเพาะในถุงจากนั้นราว 45 วัน เมล็ดจะงอกเป็นต้น มี 1 ใบ อีก 15 วันจะเริ่มมีใบที่ 2 และจะแตกใบใหม่ออกไปจนกระทั่งเป็นต้นกล้าที่สมบูรณ์ จึงนำไปลงปลูก เมื่อต้นลานทองมีอายุ 7 ปี จะได้ต้นที่โตสมบูรณ์สามารถตัดใบอ่อนมาใช้ประโยชน์ และจะใช้ได้นาน 40-50 ปี จากนั้นต้นลานจะออกดอก ติดผล ก่อนยืนต้นตาย
คุณบานเย็น สอนดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านลานทอง เล่าให้ฟังท้ายนี้ว่า คุณสมบัติของใบลานทองบ้านท่าฤทธิ์คือ เนื้อใบละเอียด นุ่มและเหนียว ไม่อมความชื้น ไม่มีเชื้อราเมื่อผ่านกระบวนการอบและเคลือบเงา ผลิตภัณฑ์จะขึ้นมันเงา สวยงาม พร้อมให้ท่านได้เลือกซื้อหมวกใบลานทองไปสวมใส่หรือนำไปเป็นของฝาก
จากเรื่องราวของภูมิปัญญาเครื่องจักสานจากใบลานทองบ้านท่าฤทธิ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดและเสริมสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านลานทอง ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านลานทองเลขที่ 11/3 หมู่ที่ 1 บ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี18220 โทรศัพท์ 081 852 6354 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ 036 359 021 หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ 036 211 443 หรือสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท โทรศัพท์ 056 405 000