‘ดีเอสไอ’ ลุยค้นโรงงานรับฝากอาหารแช่แข็ง จ.สมุทรสาคร ‘ไม่พบหมูเถื่อน’ ชี้เป็นเพียงการแอบอ้างของผู้ต้องหา ด้านเจ้าของจ่อฟ้องกลุ่มแอบอ้างบริษัท
วันนี้(21 พ.ย. 66) พ.ต.ต.สุริยา สิงกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พร้อมด้วย ชุดปฏิบัติการพิเศษ นําหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานรับฝากอาหารแช่แข็งขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร
โดย พ.ต.ต.สุริยา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยภายหลังเข้าตรวจค้นว่า สืบเนื่องจากกรณีสองพ่อลูกซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนที่สั่งการให้บริษัทชิปปิ้งลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนแช่แข็งเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยมีการสําแดงเอกสารระบุว่าเป็นหัวปลาแซลม่อนจํานวน 282 ตู้ ซึ่งฝากไว้ยังบริษัท รักชัยห้องเย็น จํากัด ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตนจึงนํากําลังพร้อมหมายศาลเข้ามาตรวจค้น แต่ผลการตรวจสอบพบว่าเอกสารที่ผู้ต้องหาสองพ่อลูกสําแดงนั้น เป็นเอกสารเท็จที่ใช้ในการแอบอ้างเพื่อสําแดงต่อกรมประมง จึงยืนยันได้ว่าบริษัทรักชัยห้องเย็นฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนําเข้าหมูเถื่อนอย่างแน่นอนเป็นเพียงการแอบอ้างชื่อบริษัทเท่านั้น
อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่พบเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในกลุ่มแรกซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชิปปิ้งที่นําเข้าหมูเถื่อน โดยพบแผนประทุษกรรมในการนําเข้าและหลีกเลี่ยงษี ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะขยายผลต่อไปว่าหมูเถื่อนจํานวน 282 ตู้นั้น สุดท้ายแล้วอยู่ที่ใดกันแน่
ขณะที่นายลือศักดิ์ ลือสุขประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รักชัยห้องเย็น จำกัด ยืนยันว่าบริษัทมีกระบวนการรับฝากและขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารของสินค้าอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด หากไม่มีเอกสารหรือเอกสารไม่ครบจะไม่รับฝากอย่างเด็ดขาด ส่วนเหตุผลที่เพราะเหตุใดถึงมีการแอบอ้างบริษัทรักชัยฯนั้น คาดว่าเพราะมีห้องเย็นขนาดใหญ่สามารถรองรับสินค้าที่เขาจะนํามาฝากได้ แต่เหตุผลที่ทางบริษัทปฏิเสธรับฝากสินค้า เนื่องจากไม่มีเอกสารมาแสดงและจากการเปิดดูสินค้าในวันดังกล่าวพบเป็นชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง ไม่ใช่หัวปลาแซลมอนตามที่เขาระบุ โดยหลังจากนี้จะดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาที่แอบอ้างชื่อและใช้เอกสารปลอมอย่างแน่นอนเนื่องจากได้รับความเสียหายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ พ.ต.ต.สุริยา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังเปิดเผยด้วยว่าภายในสัปดาห์นี้ทางดีเอสไอ เตรียมส่งสํานวนคดีหมูเถื่อน ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้กับทาง ป.ป.ช. โดยพบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน รวมมากกว่า 10 คน คือกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง