นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นหน่วยงานประสานและขับเคลื่อนหลักในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาและมุ่งสู่การใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างสมเหตุผล ตั้งแต่การจัดทำระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในปศุสัตว์ในระดับชาติ ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) สนับสนุนการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice: GAP) ซึ่งมีสัตวแพทย์กำกับดูแลการใช้ยาอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับข้อกำหนดใน มกษ. 9032 เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์ การออกกฎหมายห้ามการใช้ยาต้านจุลชีพในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโต การออกกฎหมายอาหารสัตว์ที่ผสมยาซึ่งการผสมยาลงในอาหารสัตว์ภายใต้ใบสั่งใช้ยา(Prescription) ซึ่งจะมีการกำกับดูแลจากสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด การเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังคุณภาพของยาสัตว์และอาหารสัตว์ที่ผสมยา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการการเลี้ยงสัตว์ลด/ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ยังมีการผลักดันมาตรฐานร่วมกับ มกอช. ในด้านการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในสัตว์
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมทุกมิติและเห็นผลสำเร็จเป็นประจักษ์ ส่งผลให้ระหว่างปี 2560 -2564 อัตราการดื้อยาของเชื้อ E.coli ที่ดื้อต่อยา 3rd generation cephalosporins มีแนวโน้มลดลงและไม่เกินร้อยละ 20 สำหรับการดื้อยา colistin มีอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ไม่พบการดื้อยา meropenem นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการดื้อยาของเชื้อ Enterococcus spp. ที่ดื้อต่อยา vancomycin ไม่เกินร้อยละ 2 ด้านปริมาณการบริโภคยาในสัตว์ในปี 2560-2564 ลดลงร้อยละ 38 (ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คือ ลดลงร้อยละ 30)
ทั้งนี้ สัดส่วนของการบริโภคยาต้านจุลชีพกลุ่ม Critically Important Antimicrobial (CIA) สำหรับสัตว์มีแนวโน้มลดลง จากผลการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้ประเทศไทยได้รับคะแนนการประเมินสมรรถนะของประเทศในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 คะแนน ในปี 2565 เมื่อเทียบกับของเดิมในปี 2560 มีคะแนนเฉลี่ย 3.0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ตามเกณฑ์การประเมินร่วมขององค์การอนามัยโลกภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ และได้รับการจัดลำดับประเทศที่มีการกำกับดูแลด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นลำดับที่ 9 จาก 114 ประเทศทั่วโลก โดยที่ปัญหาเชื้อดื้อยาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 มีเป้าหมายที่สำคัญในสัตว์ คือ ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลดลง ร้อยละ 50 (เทียบกับปี 2560)
กรมปศุสัตว์และทุกภาคส่วนมีความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าปศุสัตว์ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์สินค้าจากภาคปศุสัตว์ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง ความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพอนามัยที่ดี และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป