ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์พบการระบาดของโรคลัมปี สกินในจังหวัดชัยภูมิตามที่มีรายงานในข่าวออนไลน์ ซึ่งเกษตรกรมีความกังวลว่าจะมีการกลับมาระบาดของโรครุนแรงอีกครั้งเหมือนปีก่อน ทำให้เกิดความเสียหายนั้น ต้องขอยืนยันว่าการพบรายงานของโรคลัมปี สกินในโค-กระบือครั้งนี้ ไม่รุนแรงเหมือนครั้งก่อนแน่นอน แต่ที่มีการรายงานพบโรค เนื่องจากยังมีโรคในบางพื้นที่และโคบางตัวยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝนด้วยจึงเป็นปัจจัยเอื้อทำให้แมลงที่เป็นสัตว์พาหะของโรคมีจำนวนมาก ตนเองได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น ได้กำชับสั่งการให้นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งดำเนินการในการควบคุมโรคในทุกพื้นที่ หาแนวทางป้องกันการเกิดโรค และให้เยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เดือดร้อนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยให้รายงานผลดำเนินการมาที่ตนโดยตรงนั้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่ากรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบืออย่างเข้มงวดมาโดยตลอดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 64 ที่มีรายงานพบโรค มีการออกมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคแจ้งสั่งการไปยังทุกพื้นที่ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด การบูรณาการร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและ อปท. การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่โดยพิจารณาตามความเสี่ยงก่อน การประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ในการควบคุมป้องกันและสังเกตอาการของโรคให้เกษตรกร การพ่นน้ำยาฆ่าแมลงและสัตว์พาหะที่คอกเลี้ยงสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่สอบสวนโรคทันทีตามหลักรู้เร็ว ควบคุมโรคได้เร็ว การปรับปรุงฟาร์มเพื่อยกระดับการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ การสร้างเครือข่ายในพื้นที่ การทำระบบการรายงานผลที่มีประสิทธิภาพรวดเร็ว ซึ่งในพื้นที่ที่มีการรายงานพบโรคจะมียกระดับความเข้มงวดเป็นพิเศษ นอกจากนี้เพื่อเป็นความมั่นคงในการผลิตวัคซีน ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น
ประเทศไทยสามารถผลิตมีวัคซีนใช้ในประเทศได้อย่างเพียงพอยั่งยืนนั้น ได้สั่งการให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ เร่งวิจัยและศึกษาการผลิตวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ซึ่งตอนนี้สามารถวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินล๊อตแรกได้สำเร็จในเดือนมิถุนายน 65 นี้แล้ว 45,000โด๊ส (กำลังการผลิตสูงสุดในแต่ละเดือนผลิตได้ 50,000 โด๊ส) และได้จัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ครบถ้วนโดยจะพิจารณาจากพื้นที่เสี่ยงและจำนวนโคและลูกโคที่ยังไม่ได้ทำวัคซีนก่อน วัคซีนที่ผลิตได้เป็นวัคซีนเชื้อตาย สื่อน้ำมัน ฉีดตัวละ 2 มิลลิลิตร เข้าทางกล้ามเนื้อ เริ่มฉีดได้ที่โคอายุ 4 เดือนขึ้นไป ถ้าไม่เคยฉีดมาก่อนให้กระตุ้นซ้ำอีก 1 เดือน และกระตุ้นทุกๆ 6 เดือน เกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ สำหรับการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เสียหายนั้น ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้งบประมาณทดลองราชการแล้ว 52,389 ราย โค-กระบือ 58,089 ตัว วงเงิน 1,221,823,020 บาท อยู่ระหว่างการช่วยเหลืออีก 1,596 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.82 และอยู่ระหว่างการของบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลางเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรในบางพื้นที่เพิ่มเติม จำนวน 203,107,702 บาท ซึ่งจะเร่งดำเนินการต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ในวงจำกัด ซึ่งจากรายงานสัตว์ป่วยทั่วประเทศพบเพียง 1,498 ตัว จากจำนวนสัตว์ทั่วประเทศทั้งหมดเกือบ 9 ล้านตัว คิดเป็นสัดส่วนที่พบน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนทั้งหมด ซึ่งจากการสอบสวนหาสาเหตุพบว่าสัตว์ที่ป่วยใหม่เป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามการควบคุมโรคให้สำเร็จนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นสำคัญด้วย จึงขอให้เกษตรกรดำเนินการตามมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด สิ่งสำคัญในการคุมโรคได้คือ การทำวัคซีน การกำจัดแมลงและสัตว์พาหะ และการควบคุมการเคลื่อนย้าย ถ้าหากควบคุมไม่มีตัวป่วยและตายเพิ่มในระยะเวลา 1 ปี จะทำการขอคืนสถานะปลอดโรคลัมปี สกิน จากองค์การสุขภาพสัตว์โลกต่อไป ทั้งนี้ หากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือสายด่วนของกรมปศุสัตว์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง