อีกหนึ่งผลงานวิจัยที่ภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ การศึกษาหนอนไม้ไผ่ นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของ รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา และถือเป็นคนแรกอีกด้วยที่ค้นพบว่าหนอนไม้ไผ่คือแมลงชนิดอะไร
โดยรศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2534 จนพัฒนานำไปสู่การเพาะเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตได้ ขณะนี้ได้จัดทำหนังสือคู่มือแนวทางการเลี้ยงและการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ในประเทศไทยสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย คู่มือนี้ครอบคลุมการเลี้ยงทั้งในพื้นที่ป่าไผ่ธรรมชาติและสวนป่าไผ่แบบที่มีหนอนไม้ไผ่อาศัยมาก่อนหรือแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน (ก่อนเลี้ยงต้องศึกษาว่าสภาพพื้นที่มีความเหมาะสมหรือไม่ก่อน)ขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจ download หนังสือคู่มือแนวทางการเลี้ยงและการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ในประเทศไทย ได้ที่ https://www.arda.or.th/api/component-file/image/9220/o…
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา กล่าวว่าปัจจุบันมีการกล่าวถึงอาหารแห่งอนาคตกันมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดการขาดแคลนแหล่งโปรตีนมากขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นประชากรมนุษย์นั่นเอง ทำให้ต้องมีการค้นหาแหล่งโปรตีนเตรียมไว้ จากการพิจารณาแล้วพบว่า แมลงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดเพราะมีจำนวนมากและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทำให้มีการนำแมลงมาผลิตโปรตีนหรือเป็นอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะจิ้งหรีดถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี
อย่างไรก็ตาม ยังมีแมลงอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารหรือโปรตีนเพื่อรองรับการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้ ปัจจุบันแมลงได้รับความนิยมมากขึ้นในการนำมาเป็นอาหารจากทั่วโลกแต่ก็มีแมลงอีกเป็นจำนวนมากที่มีศักยภาพนำมาเป็นอาหารหรือผลิตโปรตีนได้ อีกทั้งยังมีราคาสูงอีกด้วย ตรงนี้สามารถนำมาช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านหรือผู้สนใจได้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ หนอนไม้ไผ่หรือหนอนรถด่วน จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สำคัญมากชนิดหนึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะมีราคาแพงแต่หนอนไม้ไผ่ยังไม่มีการนำมาเพาะเลี้ยงได้ ผลผลิตที่ได้ทั้งหมดนำมาจากป่าไผ่ธรรมชาติซึ่งนับวันกำลังจะหมดไปหรือลดลงอย่างมาก จนทำให้คาดการณ์ว่าหนอนไม้ไผ่อาจหมดไปจากธรรมชาติได้เนื่องจากไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ นั่นเอง การนำตัวหนอนมารับประทานถือว่าเป็นการตัดวงจรชีวิตของหนอนไม้ไผ่อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง ดังนั้น ถ้าสามารถทำการเพาะเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ได้จะเป็นการช่วยแก้ปัญหานี้ให้หมดไปได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนแหล่งอาหารทางเลือกแห่งอนาคตได้อีกด้วย
คู่มือแนวทางการเลี้ยงและการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ในประเทศไทยเล่มนี้ ได้นำเสนอความรู้ทั่วไปที่ ครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับหนอนไม้ไผ่และแนวทางการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่แบบทั่วไป แบบการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่ และการผลิตหนอนไม้ไผ่นอกฤดูกาล ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้ได้มาจากการรวบรวมจากเอกสารต่าง ๆ และการศึกษาภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง การเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและความมั่งคั่งทางอาหาร (Increasing production of bamboo caterpillar (Omphisa fuscidentalis: F.Crambidae) for increasing stable income and food wealth) ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัย การเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ใช้ระยะระหว่างปี 2563-2565
โดย รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ผู้จัดทำได้นำข้อมูลและประสบการณ์จริงที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้มาเป็นต้นแบบในการจัดทำครั้งนี้ เนื่องจากหนอนไม้ไผ่เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นขณะเดียวกันปริมาณหนอนไม้ไผ่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้บางพื้นที่หมดไปได้ นอกจากนี้ ถ้าต้องการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่มากขึ้นนั้น จะต้องมีคู่มือ ที่ดีในการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ รวมถึงแนวทางการเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่อีกด้วย ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลที่ครบทุกด้านเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ เพื่อจะนำไปสู่การเพิ่มปริมาณหนอนไม้ไผ่ให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์หนอนไม้ไผ่ให้คงอยู่ตลอดไปในพื้นที่ และสามารถเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญแห่งอนาคตอีกแหล่งหนึ่ง