อธิบดีกรมปศุสัตว์เยี่ยมฟาร์มเอกชนในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ พร้อมแนะนำการเลี้ยงสุกรปลอดภัยทางชีวภาพ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 น.นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อม สพ.ญ.ขนิษฐา ธิติดิลกรัตน์ ปศุสัตว์เขต 3 สพ.ญ.ศรีสมัย โชติวนิช ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ ,น.สพ.อภิชาติสุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ,น.ส.เยาวนิตย์ บุรีรักษา เลขานุการกรมและเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิร่วมลงพื้นที่สิทธิภัณฑ์ฟาร์ม ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มสุกร ผลิตและจำหน่ายลูกสุกรและสุกรขุน ตั้งอยู่ที่221 หมู่ 6 ถ.ชัยภูมิ-แก้งคร้อ ต.โพนทอง อ.เมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เป็นการเลี้ยงแบบครบวงจร มีทั้งฟาร์มพ่อ-แม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกสุกร และฟาร์มสุกรขุนที่รับลูกสุกรมาเลี้ยงต่อ เพื่อจำหน่ายต่อไป
โดยการเลี้ยงจะเป็นการเลี้ยงในระบบฟาร์มปิด เน้นเรื่องการควบคุมโรคเป็นหัวใจสำคัญ และถูกต้องตามมาตรฐานฟาร์ม ที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้ มีการแยกพื้นที่ภายในและภายนอกส่วนพื้นที่เลี้ยงสัตว์อย่างชัดเจน ก่อนเข้าในส่วนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ทุกครั้งต้องผ่านการฆ่าเชื้อทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะที่จำเป็นต้องเข้าไปภายในฟาร์ม
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ โดยโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงสัตว์เป็นระบบปิด(Evap) ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นให้เหมาะสมต่อความต้องการของสุกรและมีการใช้ฝ้าแบบพิเศษ เพื่อลดความร้อนจากภายนอกโรงเรือนที่จะเข้าสู่ภายในโรงเรือน มีการนำเทคโนโลยีการให้อาหารแบบอัตโนมัติ(Auto Feed) มาใช้ เพื่อให้สุกรได้กินอาหารอย่างเต็มที่
โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ให้คำแนะนำในการเลี้ยงสุกรกรมปศุสัตว์ให้มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรอย่างเข้มงวด พร้อมเน้นให้มีการเฝ้าระวังและค้นหาโรคเชิงรับและเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวังทางอาการในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงฆ่าสัตว์ การเฝ้าระวังในซากและผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาดมีการกำหนดมาตรการการควบคุมการเคลื่อนย้ายโดยทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ลดความเสียหายจากการแพร่กระจายโรค
นอกจากนี้ยังแนะนำให้ฟาร์มสุกร ควรมีรั้วรอบบริเวณพื้นที่การเลี้ยงสุกร ป้องกันคน รถ และสัตว์พาหะได้ ควรมีระบบทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าฟาร์ม ทั้งคนและรถ ควรจัดให้มีบริเวณที่ขายสุกรมีชีวิต แยกออกมาจากพื้นที่การเลี้ยงสุกร มีคอกกักกันสุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ แยกจากบริเวณการเลี้ยงสุกรเดิมภายในฟาร์ม และมีการป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะในโรงเรือน เช่น นก หนู แมลง เป็นต้น
ด้านการลดต้นทุนอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้พัฒนา และแนะนำแนวทางการลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกร เช่น ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น การลดปริมาณการสูญเสียอาหารสัตว์ในขึ้นตอนการผลิต และการบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ร่วมกันกับเกษตรกรรายอื่นเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลงให้ได้มากที่สุดนอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้พัฒนาและแนะนำสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าอาหารสัตว์ เป็นต้น