ธรรมนัส-ไชยา ประสานพลังเปิดงานสัมมนา “ทำอย่างไรให้รายย่อยยั่งยืน” รับฟังข้อเรียกร้องจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยภาคปศุสัตว์ พร้อมตั้งคณะทำงานอย่างจริงจัง
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานสัมมนา “ทำอย่างไรให้รายย่อยยั่งยืน” โดยมี สมาคมผู้เลี้ยงสุกร เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานเอกชน ด้านปศุสัตว์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ขวัญกำลังใจให้เกิดแก่เกษตรกรภาคปศุสัตว์เศรษฐกิจรายย่อยทั่วประเทศไทย ให้ดำรงอยู่ได้ในอาชีพการเลี้ยงสุกรต่อไป และเพื่อปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศตกต่ำ
ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรได้สะท้อนปัญหาต่าง ๆ ทั้งต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตตกต่ำ การลักลอบเนื้อสุกรแช่แข็งผิดกฎหมาย รวมถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นต้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความมั่นใจต่อเกษตรกรว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
รมว.ธรรมนัส กล่าวว่า ภาคปศุสัตว์ต้องเข้มแข็ง จะดำเนินการป้องกันการลักลอบการนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยภายในวันนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปราบปรามของเถื่อนทุกประเภท ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และจะให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 2 ท่าน เป็นรองประธาน รวมทั้งอธิบดีที่เกี่ยวข้องของแต่ละกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติกรรม DSI เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เข้ามามีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตามขอให้เกษตรกรมั่นใจว่าภายใต้การกำกับดูแลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เกษตรกรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ด้าน รมช.ไชยา กล่าวว่า ภายใต้นโยบายด้านเกษตรกรรม “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และการบริหารกระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับเกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย จะเร่งแก้ไขปัญหา อุปสรรค เพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี ด้านข้อเรียกร้องปัญหาเรื่องโรคระบาดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จะตั้งคณะกรรมการในการศึกษาเรื่องวัคซีนป้องกันโรคระบาดให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ และทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป