กรมปศุสัตว์ ดึงเกษตรกรที่มีศักยภาพเข้าร่วมเป็น “เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี” สร้างการผลิตในภาคปศุสัตว์ที่หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัด เดินเครื่อง “กระบือปลักไทย” สร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่ซื้อไปเลี้ยงได้สายพันธุ์ดี
นายกุลภัทร์ โพธิกนิษฐ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนากระบือ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ด้วยข้อจำกัดของ กรมปศุสัตว์ที่มีกำลังการผลิต “กระบือปลักไทย” หรือ “ควายปลักไทย” ไม่เพียงพอ ที่จะสนับสนุนเกษตรกรทั่วประเทศ เนื่องจากมี มีหน่วยงานที่เลี้ยงกระบือปลักไทยทั่วประเทศ เพียง 6 แห่ง เท่านั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ผลักดันให้เกิด “เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี” เป็นการขยายฐานการผลิตกระบือปลักไทย ไปสู่เกษตรกรที่มีศักยภาพและผ่านการประเมินแล้ว ให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์
แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา“กระบือปลักไทย” ของกรมปศุสัตว์ จะมีการดูแลฝูงกระบือ โดยเฉพาะแม่พันธุ์และลูกกระบือเป็นอย่างดี เมื่อลูกกระบือมีอายุ ประมาณ 8 เดือน จะทำการหย่านม ลูกกระบือ หลังจากนั้นจะถูกกระจายพันธุกรรมออกไปให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นเครือ ข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ และเกษตรกรทั่วไป
ลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ประจำพันธุ์ของ”กระบือปลักไทย” มีลักษณะตัวค่อนข้างสีเทาดำ หากสังเกตบริเวณใบหน้า พบว่ามีเคราสีขาวที่ใต้คาง และมีเขาโค้งเหมือนวงพระจันทร์ หรือเขาอุ้มบาตร เป็นลักษณะเด่นของกระบือปลักไทย ทั้งนี้ บริเวณหัวตาและแก้มของกระบือจะเป็นจุดสีขาว ตามที่มีคำคล้องจองที่เรียกว่า “ตาแต้ม แก้มจ้ำ” ทั้งสองข้าง โดยยังมีอ้องคอขาว หรือบั้งคอบริเวณใต้ลำคอและบริเวณหน้าอก ซึ่งกระบือปลักไทยบางตัวมีถึง 3 อ้อง แต่อย่างน้อย ต้องมี 1 อ้อง ถึงจะเป็นกระบือปลักไทยแท้ และจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ข้อเท้าลงไปจนถึงกีบขาทั้ง 4 ข้าง มีลักษณะขนสีขาว
น.ส.เยาวลักษณ์ เลไพจิตร หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบการผลิตและการรับรองพันธุ์สัตว์ กล่าวว่าการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม”เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี” กรมปศุสัตว์ เกษตรกรสามารถยื่นความจำนงได้ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ที่อยู่ใกล้เคียงฟาร์มของตนเอง หรือ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจประเมิน ส่วนการจัดการฟาร์มจะใช้โปรแกรม E-breeding สำหรับการจัดเก็บข้อมูลภายในฟาร์ม ช่วยวิเคราะห์ค่าพันธุกรรม หรือค่า EBV
เกษตรกรสามารถนำค่านี้ไปคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่อยู่ภายในฟาร์มได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี กรมปศุสัตว์เป็นการบูรณาการระหว่างสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ เช่น จ.อุทัยธานี โดยนายสมพล ไวปัญญา ปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี และนายพินิจ ร้อยศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์อุทัยธานี ส่วนในจ.กาญจนบุรี โดยนายสัตวแพทย์สามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
นายเอกวีร์ ทวีผล เจ้าของฟาร์มบ้านสวนอุทัยธานี ต.เขากวางทอง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เกษตรกรฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ ประเภทปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ กล่าวว่า ฟาร์มบ้านสวนอุทัยธานีเป็นฟาร์มกระบือต้นน้ำ มีนโยบายในการพัฒนาพันธุกรรมกระบือ เพื่อการส่งต่อกระบือคุณภาพดีสู่เกษตรกร โดยมีการเลี้ยงกระบือด้วยวิธีแบบอิงธรรมชาติ ในลักษณะการเลี้ยงด้วยหญ้าและฟางเป็นหลัก ดังนั้น กระบือที่มีพันธุกรรมที่ดี ต้องมีประวัติพันธุกรรมที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตสูง มีอัตราการแลกเนื้อที่ดี จึงทำให้ฟาร์มบ้านสวนเลือก พ่อพันธุ์ที่ตอบโจทย์ในการพัฒนาพันธุกรรมสามารถยกระดับคุณภาพในรุ่นลูกได้ และส่งต่อพันธุกรรมดี สู่เกษตรกรเพื่อเป็นการการอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย
นายไตรมิตร หงส์ทอง ประธานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เกษตรกรฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ ประเภทปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ กล่าวว่า ในการร่วมโครงการ กระบวนการมีการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลในโปรแกรม E-breeding ซึ่งกรมปศุสัตว์สามารถออกใบรับรองพันธุ์ประวัติของลูกกระบือที่เกิดภายในฟาร์มได้ทุกตัว สามารถนำกระบือไปจำหน่าย โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถรับรองพันธุ์ประวัติได้ ส่งผลให้เกษตรกรที่มารับซื้อมีความมั่นใจในสายพันธุ์ที่ซื้อไป