กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ Group Leaders Meeting of Thai Fish Project ครั้งที่ 7 โดยมีนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นผู้แทนกรมประมง ในฐานะเจ้าภาพเปิดการประชุมฯและมี Dr. Tsukasa NAGAMINE Senior Associate Research Supervisor, เป็นผู้แทน Japan Science and Technology Agency Dr. HIRONO Ikuo หัวหน้าโครงการจากมหาวิทยาลัย Tokyo University of Marine Science and Technology คณะนักวิจัยของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานวิจัยภายใต้โครงการฯ เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อให้นักวิจัยของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นภายใต้โครงการฯ ได้รายงานผลการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดจนหารือความร่วมมือแนวทางในการดำเนินงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต ณ ห้องประชุม Ballroom C โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้น ภายใต้โครงการการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่นของประเทศไทยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นสู่ตลาดโลก (Utilization of Thailand Local Genetic Resources to Develop Novel Farmed Fish for Global Market) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนรูปแบบความร่วมมือด้านงานวิจัย ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทยในชนิดปลากะพงขาว (Asian seabass) และกุ้งแชบ๊วย (Banana shrimp) โดยศึกษาการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ระดับโมเลกุลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและความต้านทานโรค การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การพัฒนาเทคนิคการป้องกันโรคสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึง การจัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 – 2568 โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือโครงการดังกล่าว ล่าสุดกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MoU) ร่วมกับ Tokyo University of Marine Science and Technology (TUMSAT) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัย TUMSAT กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ของไทย พร้อมขยายผลต่อยอดการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาปรับใช้ในการสร้างผลงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าสัตว์น้ำคุณภาพป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป