นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือข้อเท็จจริงปัญหาการขาดแคลนน้ำนมดิบในประเทศ กรณีที่มีการนำเสนอข่าวในขณะนี้ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ได้แก่ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 135) ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นสถานการณ์ขาดแคลนน้ำนมดิบที่กระทบกับความต้องการของตลาดในประเทศ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและไม่ให้กระทบกับการผลิตนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ว่า จากกรณีที่มีสื่อนำเสนอข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหายกเลิกกิจการฟาร์มเลี้ยงโคนม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงและไม่นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากการประชุมหารือที่ประชุมได้รายงานและยืนยันว่า ปัจจุบันยังมีการรับซื้อน้ำนมดิบอย่างต่อเนื่องจาก อ.ส.ค. และภาคเอกชน โดยไม่มีการหยุดรับซื้อน้ำนมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัจจุบันผลผลิตน้ำนมดิบทั้งประเทศลดลงอยู่ที่ราว 2,700 ตัน/วัน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล โดยที่ปริมาณน้ำนมจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในข่วงท้ายปีที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว จากที่มีความต้องการใช้ไม่น้อยกว่า 3,100 ตัน/วัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงประมาณ 400 ตัน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางส่วนเลิกเลี้ยง หันไปประกอบอาชีพอื่น จึงเป็นเหตุให้ปริมาณโคนมในระบบลดลง และทำให้ปัจจุบันน้ำนมดิบเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนมอย่างมาก โดยเรื่องนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้กระทบกับปริมาณน้ำนมที่ต้องใช้ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่ต้องใช้วันละประมาณ 1,000 ตัน/วัน นอกจากนั้น ในอนาคตต้องส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนมมากขึ้น และเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้เป็น Smart Farmer มีการเลี้ยงโคนมในเชิงธุรกิจให้มากขึ้นด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหาร (น้ำนม) สำหรับคนไทย
“ในการหารือในที่ประชุมพบว่า ตัวเลขเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์ราคาอาหารสัตว์ในตลาดโลกที่สูงขึ้น รวมถึงรูปแบบการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรรายย่อยในไทยที่เลี้ยงวัวหลากหลายในฟาร์มของตนเอง ทั้งวัวให้นม วัวไม่ให้นม วัวรุ่น วัวสาว วัวผสมไม่ติด หรือที่เรียกว่าวัวกินฟรี ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกเพิ่ม ส่งผลต่อรายได้ของฟาร์มที่ลดลง ดังนั้นในอนาคตจะต้องมีโครงการที่เหมาะสมสำหรับรองรับโคที่ไม่ให้ผลผลิตดังกล่าวมาจัดการในรูปแบบเฉพาะ ภายใต้โครงการช่วยเหลือของรัฐบาล และภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันปัญหาอีกส่วนพบว่า มาจากคุณภาพอาหารสัตว์ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมดิบ โดยในเรื่องนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการในการพัฒนาอาหารสัตว์คุณภาพและการเพิ่มพื้นที่แปลงหญ้าเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ซึ่งกรมปศุสัตว์รายงานว่า ตามแผนปฏิบัติการด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นม มีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนบริโภคนมไม่น้อยกว่า 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570 ซึ่งจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบให้ได้ 4,500 ตัน/วัน จึงเห็นได้ว่ายังเป็นโอกาสที่ดีในการหันมาทบทวนแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมทั้งระบบในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมโคนมของไทยได้รับการยอมรับในภูมิภาคอาเซียน” รมช.มนัญญา กล่าว
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์รายงานว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ส่งน้ำนมดิบให้กับศูนย์รวบรวมและรับซื้อน้ำนมดิบ ที่มีอยู่ 210 แห่ง ประเทศ จำนวน 16,255 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% และมีจำนวนโคนมทั้งฝูง 618,172 ตัว แยกเป็น จำนวนแม่โครีดนม 261,230 ตัว (ข้อมูลระหว่างเดือน มกราคม – มิถุนายน 2566) จากก่อนหน้าสถานการณ์โควิด 19 มีโคนมอยู่ราว 800,000 ตัว โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อยที่แบกรับต้นทุนไม่ไหว ทั้งนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบ ณ โรงงาน ครั้งที่ 1 เสนอขอเพิ่ม 1.50 บาท (จากเดิมราคา 19.00/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 20.50 บาท/กิโลกรัม) และครั้งที่ 2 เสนอขอเพิ่ม 2.25 บาท เป็น 22.75 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะต้องรอขอความเห็นชอบของ ครม. ในรัฐบาลชุดถัดไป นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ขับเคลื่อนโครงการขยายพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ 50,000 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ 13,809 ราย พื้นที่ 57,065 ไร่
ด้าน อ.ส.ค. รายงานว่า อ.ส.ค. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ส่งนมให้ อ.ส.ค. โดยช่วยเหลือในรูปแบบค่าขนส่ง ในราคา 1.20 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ต้นทุนของ อ.ส.ค. เพิ่มขึ้น ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานว่า ปัจจุบันสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ ได้ช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่นำนมมาขายในรูปแบบค่าขนส่งเช่นกัน ในราคา 1.20 – 2 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามหาก ครม.อนุมัติการเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบตามที่ Milk Board เสนอ ก็จะสามารถช่วยชดเชยในส่วนนี้ได้