DSI เร่งขยายผลกลุ่มบิ๊กนายทุน 4-5 บริษัท เบื้องหลังขบวนการหมูเถื่อน 161 ตู้ แย้ม อยู่ระหว่างรอเอกสารจาก 17 สายเรือ ระบุข้อมูลบริษัทที่ว่าจ้างขนส่งสินค้า หากครบถ้วนเตรียมออกหมายเรียกพยานสอบปากคำทันที พร้อมยืนยัน ยังไม่พบนักการเมืองเอี่ยว ชี้ หากผู้ใดมีเบาะแส แจ้งมาได้
วันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ภายหลัง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สั่งขยายผลหาความเชื่่อมโยง ขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์(สุกร) เข้าในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ สืบเนื่องพฤติการณ์นายทุนของขบวนการลำเลียงผ่านท่าเรือแหลมฉบัง มีการสำแดงเป็นสินค้าแช่แข็งอื่นๆ มีห้องเย็นมารับสินค้าแล้วกระจายไปยังกลุ่มผู้ค้าคนกลาง นำไปจำหน่ายให้กับรายย่อย
ล่าสุด พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีหมูเถื่อน กล่าวว่า กรณีการพบกลุ่มนายทุน 2-3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่เเข็งนั้น ข้อเท็จจริงต้องเรียนให้ทราบว่า ในจำนวน 161 ตู้คอนเทเนอร์ มีบริษัทนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 11 แห่ง ในจำนวนนี้ จะมี 4-5 บริษัทขนาดใหญ่ รับหน้าที่นำเข้าอาหารแช่เเข็ง (Frozen Food) ซึ่งเป็นขาใหญ่ในวงการนำเข้าสินค้าอาหารแช่เเข็ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่านายทุน 4-5 รายนี้ไม่ใช่กลุ่มนักการเมือง
ส่วนพฤติการณ์ที่พบ คือ บริษัทเหล่านี้มีการนำเข้าสินค้าแช่เเข็งบ่อยครั้ง ที่ผ่านมา อาจมีหลายส่วนมีหหลุดรอดไปบ้างแล้ว จนเหลือเพียง 161 ตู้ที่พบ อีกทั้ง ข้อมูลการนำเข้าสินค้าแช่เเข็งจำนวนมากนั้น บางรายการก็สำแดงเป็นอาหารแช่แข็งประเภทเนื้อปลา เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ดังนั้น สินค้าเหล่านี้จะผ่านเข้าช่องสินค้ายกเว้นการตรวจ หรือ GREEN LINE
“สัปดาห์หน้า คณะพนักงานสอบสวนจะประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเข้มข้นในการดำเนินการกับ 4 – 5 ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นบริษัทของไทย และมีเเหล่งที่ตั้งอยู่ใน กรุงเทพฯและปริมณฑล” พ.ต.ต.ณฐพล ระบุ
นอกจาก การนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน เรายังพบขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อวัว จากประเทศเพื่อนบ้าน แถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในลักษณะกองทัพมด ผ่านห้องเย็นบรรจุในกล่องเหมือนที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถูกตรวจพบโดย กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และดีเอสไอ (ศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้) มีการตรวจยึดไปบ้างแล้ว โดยกรมศุลกากร และอยู่ระหว่างตรวจสอบปริมาณ
ทั้งนี้ กรมศุลกากรกับกรมปศุสัตว์อาจรายงานแจ้งไปยังตำรวจในท้องที่ให้ดำเนินการ เนื่องจากในกรณีที่ดีเอสไอจะเข้าไปร่วมบูรณาการหรือรับเป็นคดีพิเศษ จะต้องมีความเสียหายมากกว่า 30 ล้านบาท จากนั้น พนักงานสอบสวนในท้องที่ จึงจะประสานและส่งสำนวนมาให้ดีเอสไอรับหน้าที่ต่อ เหมือนกับคดีขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้
เมื่อถามว่า สำนวนคดีที่ได้รับจากตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เป็นอย่างไรบ้าง พ.ต.ต.ณฐพล เผยว่า สภ.แหลมฉบัง สอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ในฐานะผู้กล่าวหาไว้เรียบร้อยแล้ว ในประเด็นลักษณะความผิดเฉพาะบริษัท แต่ในส่วนที่ดีเอสไอต้องดำเนินการต่อ คือ การขยายผลไปถึงผู้อยู่เบื้องหลัง โดยเราจะเริ่มจากการสอบปากคำบริษัทสายเรือ ทั้ง 17 แห่ง ในฐานะพยานก่อน เพื่อขอข้อมูลว่ามีบริษัทใดทำการสั่งสินค้า และบริษัทใดที่มาว่าจ้างให้สายเรือไปรับสินค้า และรับสินค้าที่ไหน เป็นต้น
ขณะนี้ ดีเอสไอ รอเอกสารชี้แจงกลับจากบริษัทสายเรือทั้ง 17 แห่ง เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ว่าจ้างให้ขนส่งสินค้า และประเภทสินค้าที่ได้รับว่าจ้าง คาดว่าจะได้รับครบถ้วนเพื่อนำมาตรวจสอบได้ภายในสัปดาห์นี้
จากนั้นดีเอสไอจะเข้าสู่ขั้นตอนการออกหมายเรียก สายเรือทั้ง 17 แห่ง ในฐานะพยาน เพื่อให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงตามเนื้อหาภายในเอกสาร ถัดไป จึงจะออกหมายเรียกพยานแก่บริษัทชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่งให้เข้าให้ปากคำ
เมื่อถามถึงขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักการเมืองหรือไม่ พ.ต.ต.ณฐพล ชี้แจงว่า ขณะนี้ ยังไม่พบ มีเพียงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่ให้ข้อมูลผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อ ยังไม่ได้มอบพยานหลักฐานเอกสารใดๆ ดังนั้น ตามนโยบายของดีเอสไอ ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถแจ้งเบาะแสเพื่อนำไปสืบสวนขยายผลได้