วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุม โดยมีนายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ (กสส.) สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ (สอส.) สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กองสารวัตรและกักกัน (กสก.) สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรระดับภาค สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
หลังจากที่กรมปศุสัตว์ได้รับฟังปัญหาที่เกิดจากผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในภาคส่วนต่างๆแล้วกรมปศุสัตว์จึงได้เสนอแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน “โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร” โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (ระยะสั้น/ระยะกลาง/ระยะยาว) โดยในรายละเอียดโครงการจะยึดโยงตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริงตามที่ผู้แทนในภาคส่วนต่างๆเสนอโดยสรุปได้เป็น 6 ประเด็นดังนี้
1. การปราบปรามหมูเถื่อนที่ยังตกค้างในประเทศ และยกเลิกการนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรทุกประเภท
2. การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการค้าสุกร (Broker)
3. การขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศรวมทั้งปริมาณแม่พันธุ์ และสุกรขุนที่เพิ่มขึ้นของผู้เลี้ยงในประเทศ
4. กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตสุกรขุนให้สอดคล้องกับการบริโภคภายในประเทศ
5. ส่งเสริมการส่งออกสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรที่ได้มาตรฐาน เพื่อลดสุกรส่วนเกินในประเทศ
6. หารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (pig board) เพื่อร่วมมือแก้ปัญหาและบริหารความเสี่ยงในอนาคต
ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของ “โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร” ตามที่กรมปศุสัตว์เสนอ หลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะได้ดำเนินการจัดความสำคัญในแต่ละประเด็น และเพิ่มเติมในรายละเอียดโครงการซึ่งต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ สมาคม สหกรณ์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในการให้ข้อมูลต่างๆ กองนำเสนอต่อที่ประชุม pig board เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการ และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป ณ ห้องประชุมพุทธอุดมสุข ชั้น 2 ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ และและประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ ZOOM