วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรแห่งชาติ พันตำรวจเอก ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รองผู้บังคับการภูธรจังหวัดชลบุรี และพันตำรวจเอก ปพรพัชร์ ใบยา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมกันทำการตรวจสอบตู้สินค้า (ตู้คอนเทนเนอร์) บรรจุสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ตรวจยึดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าสุกรแช่แข็งซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์
ในเรื่องนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีหนังสือขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดี ต่อมากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงได้มีหนังสือส่งเรื่องมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาดำเนินการ และในเรื่องเดียวกัน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เคยให้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นและยื่นหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับเป็นคดีพิเศษด้วยอีกส่วนหนึ่งตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปก่อนนี้ ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาและมีคำสั่งให้รับกรณีนี้ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน จึงได้ออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ (LIST A) โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้นและได้แจ้งไปยังตัวแทนเรือและผู้รับตราส่งตามที่ระบุไว้ในบัญชีเรือ เพื่อให้มีการชำระอากรหรือวางประกันค่าอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อครบระยะเวลา ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ จึงทำการเปิดสำรวจ และพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาต จากกรมปศุสัตว์ จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายศุลกากร ผลการประเมินราคาสินค้าทั้งหมดมีมูลค่าราคารวมค่าภาษีอากร รวมเป็นเงิน 460,105,947.38 บาท โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป
ดูภาพเหตุการณ์ที่นี่ https://fb.watch/lAHpTYGA2C/?mibextid=qC1gEa