นายกฯปลื้มผลสำเร็จโครงการวิจัยสัตว์น้ำ และการปศุสัตว์ระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีผลสำเร็จโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพสัตว์ : จากการวิจัยสู่การประยุกต์ใช้” ความร่วมมือระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร เชื่อมั่นว่าจะต่อยอดพัฒนาคุณภาพของสัตว์น้ำและการปศุสัตว์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

IMG 69573 20230623090025000000
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล



นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความร่วมมือระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร และชื่นชมผลสำเร็จโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพสัตว์ : จากการวิจัยสู่การประยุกต์ใช้” (Thailand-UK Research Collaboration on Development of Biotechnological Products for Animal Health: From Research to Application) เพื่อพัฒนาดูแลสุขภาวะของสัตว์ในระบบปศุสัตว์ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี จำกัดโรคอุบัติใหม่ และป้องกันการอุบัติโรคเดิมซ้ำ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักร ใช้ทุนสนับสนุนร่วมจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เป็นการศึกษาวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนาบุคลากร/นักวิจัยไทย โดยมีประเด็นหลักคือ 1. ชีวเวชภัณฑ์ และวัคซีนสำหรับสัตว์ 2. เทคโนโลยีสาหร่ายเซลล์เดียว เพื่อการป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ โดยที่ผ่านมามีโรคอุบัติใหม่ รวมถึงไวรัส เชื้อโรคและแบคทีเรีย สร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมการปศุสัตว์ โดยเฉพาะการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวและโรคหัวเหลือง ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ดังนั้น ประเทศไทยและสหราชอาณาจักร จึงร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยและภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นแหล่งผลิตอาหาร และแหล่งอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการปศุสัตว์ที่สำคัญของโลก 

“นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสำเร็จในโครงการความร่วมมือเพื่อวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพสัตว์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรนี้ เชื่อว่าความร่วมมือนี้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้ศึกษา และวิจัยร่วมกัน สามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพของสัตว์น้ำและการปศุสัตว์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพิ่มมาตรฐานของไทยในการเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก” นายอนุชาฯ กล่าว