วันที่ 7 พฤษภาคม 66 ณ กองทุนหมู่บ้านดอนพะธาย หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายสมลักษณ์ ยกน้อยวง ปลัดจังหวัดนครพนม นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ และสื่อมวลชนร่วมงาน
นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยพี่น้องประชาชน เน้นย้ำให้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้และกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ การจะทำให้คนในประเทศกินดี อยู่ดี ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มคนที่อยู่ในฐานราก ให้มีกำลังซื้อ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน เกิดกระแสการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจชุมชน เมื่อเศรษฐกิจฐานรากดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็มั่นคงแข็งแรง ควบคู่กันไป โดยเฉพาะพี่น้องที่ประกอบอาชีพเกษตรกร-ปศุสัตว์ ในภาคอีสาน ถือว่าโชคดีมาก เพราะเป็นภูมิภาคที่มีจุดแข็งที่สำคัญคือ ได้รับผลประโยชน์จากรถไฟจีน – ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)” ของรัฐบาลจีน ที่ครอบคลุมระยะทางยาวถึง 1,035 กิโลเมตร จากนครคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์ รถไฟสายนี้ ใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 8 ชั่วโมง และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกผ่านโครงการรถไฟจีน – ยุโรป ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจไทยในภาพรวมและเศรษฐกิจภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง
ที่สำคัญภาคอีสานมี 4 กลุ่มสินค้า ที่มีศักยภาพในการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มปศุสัตว์แปรรูป กลุ่มสินค้าของที่ระลึก และ กลุ่มผลไม้สด เป็นต้น
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นโอกาสทองของพี่น้องชาวเกษตรกร เพราะจีนให้โควตาวัว 500,000 ตัว/ปี กับลาว ส่งผ่านรถไฟ ซึ่งคาดว่าลาวผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาดจีน ในส่วนรัฐบาลไทย ได้ส่งเสริมสนับสนุน ทั้งในด้านการเงิน และองค์ความรู้ ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ในการเลี้ยงวัว ผ่านโครงการ“โคล้านครอบครัว” แถมยังมีเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโค มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนะนำวิธีการเลี้ยงให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ที่สนใจ นี่จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะสามารถส่งออกเนื้อโคได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจากแนวโน้ม ปี 2561 – 2565 ราคาส่งออกโคมีชีวิต มีแนวโน้มสูงขึ้น ร้อยละ 4.74 ต่อปี โดยเมื่อปี 2565 คาดว่า ราคาส่งออกโคมีชีวิตตัวละ 20,817 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 17,807 บาท ของปี 2564 ร้อยละ 16.90 และราคาส่งออกเนื้อโค และผลิตภัณฑ์กิโลกรัมละ427.42 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 212.76 บาท ของปี 2564 ประมาณ 1 เท่า ซึ่งแนวโน้ม ปี 2566 นี้ คาดว่าการส่งออกโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากมีความต้องการโคมีชีวิตจากประเทศเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย โดยแนวโน้มการบริโภคของจีนและบราซิล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 และร้อยละ 1.02 ตามลำดับ สำหรับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป การบริโภคมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 4.15 และร้อยละ0.85 ตามลำดับ
ทางด้าน ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เผยว่า โอกาสโคเนื้อไทย-ส่งออกจีนยังมีช่องว่างอีกมากเพราะความต้องการบริโภคเนื้อโคมีสูง จีนมีเป้าหมายให้นำเข้าโคมีชีวิต 500,000 ตัว/ปี แต่มีข้อจำกัดในการนำเข้าคือ ต้องเป็นวัวสายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง แองกัส, ชาร์โรเล่ส์ บราห์มัน ซิมเมนทอล แบรงกัส หรือพันธุ์พื้นเมืองของไทยลาว อินเดีย และเป็นโคที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350-400 กิโลกรัม วัวต้องมีความแข็งแรง เนื้อเต็ม กล้ามเนื้อแน่น แผ่นหลังมีเนื้อเต็ม ผิวลื่นสวย ไม่มีแผลลึก และต้องปลอดโรค FMD และโรคติดต่ออื่นๆ
โคเนื้อแบรงกัส ของม.นครพนม มาจากลูกผสม 2 สายพันธุ์คือ วัวอเมริกัน บราห์มัน มีเลือด 37.5% และมีเลือดอีกพันธุ์คือ แองกัส 62.5% วัวลูกผสมมีไซส์ขนาดกลาง วัวอายุ 16 เดือน พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งวัว 2 สายพันธุ์นี้ เป็นวัวลูกผสมที่มีสภาวะทนต่อสภาพอากาศคล้ายๆ บ้านเรา ม.นครพนม ตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 ปี จะขยายแบรงกัส เป็น 1,000 แม่
นอกจากนี้ม.นครพนม มีความตั้งใจจะพัฒนาโคเนื้อให้เป็นเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเนื้อมีหลายระดับ ถ้าจะพัฒนาให้เท่าญี่ปุ่นเนื้อ A5 นั้นคือพรีเมี่ยม แต่ตลาดเนื้อพรีเมี่ยมจะมีจำนวนจำกัด ตรงกันข้ามกับ เนื้อ A2 A3 ซึ่งเป็นเนื้อเกรดรองลงมา ถือเป็นตลาดเนื้อโคขุนคุณภาพสูง เนื้อนุ่น เนื้อเกรด A2 A3 เป็นตลาดที่ใหญ่กว่า
วันนี้คนไทยบริโภคเนื้อวัว ประมาณ 3 กก. ต่อคน/ปี แต่คนจีนบริโภค 10 กก. ต่อคน/ปี เป้าหมายแรก คือ ส่งออกเนื้อโค แต่เป้าหมายที่ขาดไม่ได้เลย คือสนับสนุนให้คนไทยบริโภคเนื้อเพิ่มมากขึ้น และเป้าหมายสูงสุด คือตอนนี้ที่ ม.นครพนม จะเป็นแหล่งที่ผลิตพันธุ์วัวนอกจากพันธุ์แบรงกัสที่ได้มาแล้ว เราจะนำมาผสมกับพันธุ์แบล็ก-วากิว ซึ่งเป็นวัวขนาดกลาง ไซส์ประมาณ ตัวเมียมีน้ำหนัก 450 กก. ตัวผู้มีน้ำหนัก 600-650 กก. ซึ่งหมาะกับเกษตรกร ที่จะนำไปเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพต่อไป
การจัดงาน“สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง”ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดงานครั้งที่ 7 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักจากสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จว.ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครพนม เข้าร่วมกิจกรรมอัพเดทองค์ความรู้มากมาย ได้แก่ กิจกรรมเสวนาโดยกองทุนหมู่บ้านต้นแบบ “ทำแล้ว ทำง่าย ทำได้…ไม่ยาก” โดยกองทุนหมู่บ้านดอนพะธาย หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมUp Skill เรื่อง “โคล้านครอบครัว” รวมถึงกิจกรรม Business Matching มีหน่วยงานภาคีที่ร่วมจัดบูธ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และยังมีนิทรรศการให้ความรู้จาก กทบ.
ทั้งนี้ จะมีการจัดงานครั้งที่ 8 ขอเชิญชวนสมาชิกกองทุน ฯ จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานเพื่อนำองค์ความรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จนำไปพัฒนาต่อยอดให้คนในครอบครัว รวมถึงพัฒนาชุนชนให้เกิดกระแสรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นแบบยั่งยืน โดยงานจัดในวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566 ณ กองทุนหมู่บ้านสนามชัย หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี