5 พฤษภาคม วันสถาปนากรมปศุสัตว์ ต่อยอดจากอดีต พัฒนาปัจจุบัน เสริมสร้างอนาคต!! ครบรอบ 81 ปี 

ในปีพุทธศักราช 2447 ได้มีการเริ่มกิจการทางสาขาสัตวแพทย์ขึ้นใน “กรมช่างไหม” กระทรวง เกษตราธิการในสมัยนั้น โดยได้มีการเปิดสอนวิชาสัตวแพทย์ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 กรมช่างไหมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเพาะปลูก” ซึ่งได้มีการจัดตั้งกิจการผสมสัตว์ และกิจการแผนกรักษาสัตว์ขึ้นในกรม ในปี พ.ศ. 2474 ได้โอนกรมเพาะปลูกไปร่วมกิจการของกองตรวจพันธุ์รุกขชาติ โดยจัดตั้งขึ้นเป็น “กรมตรวจกสิกรรม” สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม 

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแผ่นดิน ในปีพ.ศ. 2476 ได้แยกกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมออกเป็นกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรพาณิชย์ซึ่งต่อมากระทรวงเกษตรพาณิชย์ได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐการและในส่วนกรมตรวจกสิกรรมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเกษตร” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเกษตรและการประมง” 

จนกระทั่งในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2485 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ และมี” การแบ่งส่วนราชการเป็น 4 กอง คือ สำนักงานเลขานุการ กองสัตวบาล กองสัตวรักษ์ และกองสัตวศาสตร์ และวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2495 “กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการปศุสัตว์” สังกัดกระทรวงเกษตร (เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงเกษตราธิการ) 

และในปลายปี พ.ศ. 2495 ได้ย้ายที่ตั้งกรมจากข้างป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ มาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน ถนนพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ และในปีถัดมา คือ ในวันที่ 26 ธันวาคม2496 กรมการปศุสัตว์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น”กรมปศุสัตว์” ดังเช่นในปัจจุบัน

กรมปศุสัตว์ (Department of Livestock Development) เป็นหน่วยงานราชการไทย ประเภทกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ดูแลและควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านสุขภาพ การบำบัดโรค การบำรุงพันธุ์ การควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ โรคระบาดสัตว์ การปศุสัตว์ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์

กรมปศุสัตว์ ขึ้นทะเบียน “ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท” เป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากรประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถานตึกอำนวยการกรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ให้มีพื้นที่โบราณสถาน 3 ไร่ 57.75 ตารางวาประกาศ ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นับเป็นการสร้างความภาคภูมิใจและเป็นที่ปิติยินดีแก่กรมปศุสัตว์เป็นอย่างยิ่ง

วิสัยทัศน์

“เป็นองค์กรพัฒนาการปศุสัตว์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าสินค้าสู่ตลาดโลกและเติบโตอย่างยั่งยืน”

พันธกิจ

1. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคการปศุสัตว์ (บุคลากรกรมปศุสัตว์ เกษตรกร อาสาปศุสัตว์ ผู้ประกอบการ) ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และมีศักยภาพพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

2. พัฒนาและยกระดับระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าปศุสัตว์ และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

3. พัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการปศุสัตว์ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนและผลักดันให้ เกิดการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตและสามารถต่อยอดนำไปใช้เชิงพาณิชย์

4. รักษาตลาดเก่า แสวงหาตลาดใหม่ ขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยการศึกษาและวิจัยด้านการตลาดตามความต้องการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งเจรจาการค้ากับคู่ค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก

5. บูรณาการและยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านการปศุสัตว์ให้เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าและในระดับสากล

6. ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บนพื้นฐานของหลักธรรมา ภิบาล (Good Governance) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำในการขับเคลื่อนการปศุสัตว์

ภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

กรมปศุสัตว์มีภารกิจเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางและนโยบาย การควบคุม การกำกับ การส่งเสริม การวิจัย การถ่ายทอด เทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลาย ทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์ เพื่อให้มีปริมาณสัตว์เพียงพอและมีมาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค สารตกค้าง และ สารปนเปื้อน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 

โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1. ดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ กฎหมาย ว่าด้วยการบำรุงพันธุ์สัตว์ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพ อาหารสัตว์ กฎหมายว่าด้วยสถาน พยาบาลสัตว์ กฎหมายว่าด้วย โรคพิษสุนัขบ้ากฎหมายว่าด้วยการ ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ และกฎหมายอื่นที่ เกี่ยวข้อง

2. ศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์

3. ตรวจสอบ และรับรอง คุณภาพสินค้าปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ ชีวภัณฑ์และชีววัตถุสำหรับสัตว์ ยาสัตว์และวัตถุอันตรายด้าน การปศุสัตว์ ระบบการผลิต ปศุสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องในด้าน การปศุสัตว์ เพื่อให้ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

4. ผลิตและขยายพันธุ์สัตว์ น้ำเชื้อ เชื้อพันธุ์พืชอาหารสัตว์ และเสบียงสัตว์ เพื่อการพัฒนา ด้านการปศุสัตว์ และผลิตและ จัดหาชีวภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และชีววัตถุสำหรับสัตว์ เพื่อการ ควบคุมโรคระบาดสัตว์

5. ควบคุม ป้องกัน กำจัด บำบัด วินิจฉัยและชันสูตร โรคสัตว์ กำกับดูแลสถาน พยาบาลสัตว์ และพัฒนาระบบ การจัดการด้านสุขภาพสัตว์

6. ส่งเสริม พัฒนา และ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน การปศุสัตว์ และบริหารจัดการ การประสานความร่วมมือด้าน การปศุสัตว์ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ

7. ดำเนินการ อนุรักษ์ พันธุกรรมและความหลากหลาย ทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์และ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการปศุสัตว์

8. ปฏิบัติการ อื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจ หน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี มอบหมาย

วันนี้ “ครอบครัวปศุสัตว์” เดินทางมาถึงปีที่ 81 ก้าวสู่ปีที่ 82 ด้วยแนวคิด ปศุสัตว์ทันสมัย ใช้ Full Digitization ขับเคลื่อนปศุสัตว์ไทย สู่ตลาดโลก อย่างยั่งยืน

ครอบครัวปศุสัตว์พร้อมใจ จับมือพี่น้องเกษตรไทย ขับเคลื่อน “กรมปศุสัตว์” ก้าวเข้าสู่ ปีที่ 82 อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาต่อยอดจากของเดิม คิดค้น และวางรากฐานสิ่งใหม่ ไปสู่ “ปศุสัตว์ เทคโนโลยี” ที่แท้จริง!!

“กรมปศุสัตว์” พร้อมแล้ว…ที่จะนำเทคโนโลยีทันสมัย เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ และดูแลพี่น้องเกษตรกร โดยยึดหลักของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนโยบาย เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการบริการได้ง่ายและมากขึ้น พัฒนาและปรับปรุง ช่วยลดภาระ และลดระยะเวลาการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ เช่น นำเทคโนโลยี Digitization เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นข้อมูลรวมสำหรับทำเกษตรกรรม นำ E-Tracking เข้าควบคุมการเคลื่อนย้าย และป้องกันโรคระบาดในสัตว์ การให้บริการ สัตวแพทย์ทางไกล ซึ่งจะเป็นการดูแล และให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จากสัตวแพทย์มืออาชีพ