“กรมปศุสัตว์”เร่งรัดกำจัด’โรคพิษสุนัขบ้า’ทุกพื้นที่ ขอให้ประชาชนเป็นเครือข่ายร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 121 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงราย ตากนครนายก นครพนม นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พัทลุง มหาสารคาม ยโสธร ระยองเลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระแก้ว สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 

โดย 5 จังหวัดที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์สูงสุด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสงขลา และจังหวัดสระแก้ว ตามลำดับ 

ชนิดสัตว์ที่พบโรคส่วนใหญ่ยังคงเป็นสุนัข สูงถึงร้อยละ 87 รองลงมาเป็นโค (ร้อยละ 11) แพะแกะ (ร้อยละ 2) และสุนัขจิ้งจอก(ร้อยละ 1) ตามลำดับ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน   2 ราย ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 จำนวน 1 ราย และจังหวัดชลบุรี เมื่อช่วงเดือนมกราคม2566 จำนวน 1 ราย

กรมปศุสัตว์ได้เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีโดยเร่งรัดให้มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกและสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

โดยเร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสุนัขและแมวให้ครบทุกตัวในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค และร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวในทุกพื้นที่ให้ครอบคลุมประชากรสุนัขและแมวอย่างน้อยร้อยละ 80 เก็บตัวอย่างสัตว์แสดงอาการสงสัยส่งตรวจวินิจฉัยทุกตัว ประสานหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อเร่งรัดให้ผู้สัมผัสและบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รับการรักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนทุกราย และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ การควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรค เพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็วจะมีการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวรัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรคเป็นระยะเวลา 30 วัน สั่งกักสัตว์และควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ ฉีดวัคซีนสุนัขและแมวทุกตัว 100% รอบจุดเกิดโรคและเฝ้าระวังทางอาการจนครบ 6 เดือนต่อไป

E4C67FA6 00DD 4913 83E4 6F8EC6EFCA7B

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุนัขจรจัดถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ เป็นสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญในประเทศไทย จะต้องได้รับการแก้ไขที่เป็นระบบและยั่งยืน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการจับสุนัขจรจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือผ่าตัดหมันทำได้ยาก อีกทั้งยังมีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว และสร้างปัญหาอย่างมากมายในแต่ละชุมชน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 

กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดเป้าหมายให้มีการผ่าตัดทำหมันทั้งประเทศ ให้ได้อย่างน้อยปีละ 300,000 ตัวทั่วประเทศ เพื่อลดจำนวนประชากรสัตว์ให้มากที่สุด โดยจะร่วมมือกันในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรและภาคมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ และหยุดการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในที่สุด ขอเชิญชวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านร่วม “หยุดโรคพิษสุนัขบ้า” ได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี ควรเลี้ยงสัตว์โดยมีรั้วรอบขอบชิดไม่เลี้ยงปล่อยนอกบ้าน ไม่ทิ้งสัตว์ให้กลายเป็นสัตว์จรจัด ควรนำสัตว์เลี้ยงไปทำหมัน 

และที่สำคัญที่สุดหากพบสัตว์แสดงอาการสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ทั่วประเทศ จึงขอความร่วมมือกลุ่มคนรักสัตว์ ประชาชน และเจ้าของสัตว์เลี้ยงในทุกพื้นหากพบสัตว์สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งพบโรคได้ที่ แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือเบอร์สายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888

  ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนชาวไทย เพราะเมื่อได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจะเสียชีวิตทุกรายเนื่องจากไม่มียารักษา มีแต่วิธีเดียวที่จะทำให้ปลอดภัยจากโรคนี้ได้ก็คือ เป็นเพียงการป้องกันเท่านั้น

6035A859 A263 4599 86DF F8FC5C682B6D