จากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในปี 2563 ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยตรวจพบในพื้นที่ 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว
ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ลดการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยกำหนดแผนปฏิบัติการการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งมีแนวทางดำเนินการประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่1 ระยะเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำของโรค และระยะที่ 3 ขอคืนสถานภาพรับรองการปลอดโรค AHS ในประเทศไทยจาก WOAH
โดยตามข้อกำหนดของ WOAH ระบุเงื่อนไขในการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจะต้องไม่พบม้าป่วยใหม่เพิ่มเติมในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี และต้องมีการหยุดการใช้วัคซีนภายในประเทศก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถดำเนินการขอคืนสถานะปลอดโรคนี้จาก WOAH ได้
จากการดำเนินงานอย่างเข้มงวดและความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พบโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้ามามากกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 เป็นระยะขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS ตามแผนปฏิบัติการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรค โดยตั้งเป้าสามารถขอคืนสภาพปลอดโรคภายในปี พ.ศ. 2566 นี้
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคที่ดีขึ้นมาก กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU)
การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกเรียบร้อยแล้ว และได้ยื่นเรื่องขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS อย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ซึ่งทางคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ทางด้านโรคสัตว์ (Scientific committee) ของ WOAH จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี พ.ศ. 2566 หากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับสถานะปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าอย่างเป็นทางการจาก WOAH ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งองค์การสุขภาพสัตว์โลกจะเวียนแจ้งประเทศที่เป็นสมาชิกของ WOAH ทั่วโลกต่อไป
เมื่อประเทศไทยปลอดโรค AHS แล้ว จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเคลื่อนย้ายม้าข้ามจังหวัดหรือออกนอกประเทศได้ สามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติรายการต่างๆ ได้สามารถนำม้าให้บริการนักท่องเที่ยวหรือทำสันทนาการได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดีขึ้นต่อไป
รวมทั้งกิจการการนำเข้า ส่งออกสัตว์กลุ่ม Equids จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการควบคุมโรค และเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย