เรื่องหมู ๆ เลี้ยง “หมูขาว” รายได้ดี ตลาดสดใส

สิคิ พุกาด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลุงเม็ด” เกษตรกรบ้านโป่งลึก ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เผยถึงความตั้งใจในการทำฟาร์มส่วนตัวขนาดเล็กในการเลี้ยงหมูขาว เพิ่มเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำสวนบนพื้นที่ 9 ไร่ ที่ประกอบด้วย ทุเรียน กาแฟ เงาะ พริกพราน มะพร้าว หมาก มะขาม มะม่วง ขนุน ฯลฯ

327094987 1413848789372229 7869305486827537185 n
เลี้ยง “หมูขาว” รายได้ดี

ลุงเม็ด เล่าว่า เริ่มต้นจากการไปศึกษาดูงานจนมั่นใจว่าหมูขาวมีตลาดที่สดใสกว่าการเลี้ยงหมูดำที่เป็นหมูสายพันธุ์พื้นบ้านที่พี่น้องชาวกระเหรี่ยงเชื้อสายปกาเกอะญอนิยมเลี้ยงไว้สำหรับบริโภคเนื้อตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ รวมถึงการสั่งอาหารจากกลุ่มแม่บ้าน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความต้องการที่จะกินหมูขาวมากกว่าหมูดำ ลุงเม็ดจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกระแสของผู้บริโภค

327057171 885443645934291 5490676542884333268 n 1
เลี้ยง “หมูขาว” รายได้ดี

ลุงเม็ด เริ่มทดลองทำคอกหมู โดยใช้เนื้อที่ประมาณ 1 งาน ทำเป็นล็อก ๆ กั้นระหว่างพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และแยกลูก ๆ ในแต่ละรุ่นที่คลอดออกมา ตอนนี้ลุงเม็ดมีลูกหมูประมาณ 20 กว่าตัว ช่วงอายุนั้นมีหลายรุ่น เริ่มตั้งแต่ 3 อาทิตย์ ไปจนถึงเดือนกว่า เมื่อขายก็ได้ราคาที่ดีกว่า ซึ่งหากขายหมูขาวแบบชำแหละแล้ว ตกอยู่ที่ประมาณ ตัวละ 5,000 – 6,000 บาท สำหรับหมูดำราคาขายเมื่อชำแหละแล้ว ตกอยู่ที่ประมาณตัวละ 3,000 – 4,000 บาท โดยเงื่อนไขของสมาชิกในกลุ่ม คือ ถ้าชำแหละแล้วขาย ให้ขายในราคาเดียวกันทั้งหมด คือ 150 บาท ต่อกิโลกรัม

327924586 575833437740089 9132892351381800922 n
เลี้ยง “หมูขาว” รายได้ดี

ปัจจุบัน กลุ่มผู้เลี้ยงหมู มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน แต่มีผู้เลี้ยงหมูขาวเพียง 2 คน คือ ลุงเม็ดกับป้ามีนา โดยลุงเม็ดเป็นคนที่มีความรู้ในการชำแหละหมูคนเดียวในชุมชน ซึ่งตอนนี้ตลาดหมูขาวกำลังไปได้ดีมาก ปริมาณหมูไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ น่าจะประมาณอีก 2 – 3 เท่าจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น จึงต้องมีการขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนฟาร์มเลี้ยงหมูขาว และคืนทุนให้กับกลุ่ม โดยภายหลังจากลุงเม็ดเลี้ยงหมูขาว ประมาณ 2 ปี แม่พันธุ์ตัวแรกสามารถออกลูกให้ลุงเม็ดแล้ว 3 คอก หลังจากนั้นจะมีการส่งต่อแม่พันธุ์ตัวดังกล่าว ให้กับสมาชิกในกลุ่มผู้เลี้ยงหมู เพื่อใช้ในการทำแม่พันธุ์หมุนเวียนกันต่อไป

ลุงเม็ด ยังเปิดเผยถึงเทคนิคการเลี้ยงหมูขาวว่า อาหารของหมูขาว ลุงเม็ด ใช้ผสมระหว่างอาหารเม็ดร่วมกับใช้หยวกกล้วย และรำคลุกเคล้าให้เข้ากันใช้เป็นอาหารเสริมช่วยให้หมูแข็งแรง และเป็นการลดต้นทุนในการซื้ออาหารเม็ด ทั้งนี้อาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงหมูนั้น จะแยกเป็น 2 รุ่น โดยแยกตามช่วงวัยของหมู คือ ช่วงหมูเล็กกับหมูรุ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) หมูเล็กหรือลูกหมู

จะให้หลังจากหย่านมแม่แล้ว (ปกติหมูจะกินนมแม่ประมาณครึ่งเดือน)หลังจากนั้นจะเริ่มให้อาหารลูกหมู สำหรับอาหารสำหรับหมูเล็ก ราคาประมาณถุงละ 620 บาท (30 กิโลกรัม) หากลูกหมูมี 20 ตัว จะใช้ประมาณ 4 ถุงต่อเดือน และเมื่อลูกหมูกินอาหารจนได้น้ำหนักประมาณ 25-30 กิโลกรัม จึงจะเปลี่ยนอาหารมาให้อาหารสำหรับหมูรุ่นแทน

2) หมูรุ่นหรือหมูใหญ่

การให้อาหารสำหรับหมูใหญ่ อาหารหมูใหญ่ราคาถุงละ 380 บาท (30 กิโลกรัม) จะเริ่มให้เมื่อหมูมีน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม กินต่อเนื่องไปจนหมูได้น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม หลังจากที่ได้น้ำหนักที่ 60 กิโลกรัมแล้วจะให้กินต่อไปอีกประมาณ 2 กระสอบ จนน้ำหนักเพิ่มจาก 60 กิโลกรัมไปจนถึง 90 กิโลกรัม แล้วจะทำการชำแหละ (การเลี้ยงหมูขาว สามารถเริ่มชำแหละได้เมื่อน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม จนถึง 60 กิโลกรัม แต่ถ้าใหญ่สุดไม่ควรเกิน 90 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นเลี้ยงด้วยด้วยอาหารเม็ดอย่างเดียวจะให้น้ำหนักดี คือ ประมาณ 100-120 กิโลกรัม แต่ต้นทุนจะสูงมาก)

3) อาหารสำหรับแม่หมูช่วงให้นม

เป็นอาหารสำเร็จรูป สำหรับให้แม่หมูคลอดใหม่โดยให้กินประมาณ 1 เดือน ราคาประมาณกระสอบละ 700 บาท

ยารักษาโรคและยาบำรุง

ยารักษาโรคและยาบำรุงมีหลายชนิด เช่น การหยอดยา/การฉีดวัคชีน จะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องปศุสัตว์ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ในชุมชน มาให้ยาบำรุงหรือวิตามินต่าง ๆ กับหมู และมีการหยอดธาตุเหล็กให้กับลูกหมูที่คลอดใหม่

วิตามินสำหรับบำรุงน้ำนมแม่ (เป็นชนิดผง) เป็นอาหารเสริมกระปุกละ 50 บาท โดยนำไปผสมกับหยวกและรำให้กินเป็นอาหารเสริมไม่ถึง 1 กิโลกรัมต่อครั้ง โดยกะให้พอและประหยัด

การฉีดวัคซีนแก้ข้อบวม โดยจะฉีดตอนลูกหมูอายุได้ประมาณ 2 เดือน (ฉีดให้ฟรี โดย อสพ.)

326912837 8756580654383708 4419500669430688717 n

สำหรับพื้นที่ต้นแบบบ้านโป่งลึก-บางกลอย ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ ที่ทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนการพัฒนาอาชีพเพื่อให้ชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้าน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มเข้าไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา