วันที่ 21 พ.ค.65 เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) โพสต์ภาพ ลูกเต่ามะเฟือง กำลังกินแมงกะพรุน
พร้อมข้อความว่า
สวัสดี พี่น้องเครือข่ายอนุรักษ์ทะเลไทย ภาพหาชมยาก ลูกเต่ามะเฟือง อายุประมาณ 1 ปี กำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารสุดโปรดคือ แมงกะพรุน
“เต่ามะเฟือง” เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
“เต่ามะเฟือง” (Leatherback Sea Turtle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dermochelys coriacea (Vandelli, 1761) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเต่าทะเลที่พบทั้งหมด 7 ชนิดทั่วโลก และเป็น 1 ใน 5 สายพันธุ์ที่มีรายงานการขึ้นวางไข่ในประเทศไทย ด้วยลักษณะที่แตกต่างจากเต่าทะเลสายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งรูปร่าง ขนาดและกระดองทำให้ “เต่ามะเฟือง”เป็นที่รู้จัก และเป็นตัวแทนของสัตว์ทะเลหายากที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
จากการประเมินบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Red List) พบว่าประชากร “เต่ามะเฟือง” ทั่วโลกมีจำนวนลดลงอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อย ๆ จึงจัดให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU)
ขณะที่การประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามในประเทศไทยของสำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อมเมื่อปี พ.ศ. 2560 จัดให้ “เต่ามะเฟือง”เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered species: CR) เนื่องจากสถิติการวางไข่ลดลงมากและแหล่งวางไข่ถูกคุกคามจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง
ตัวเต็มวัยของ “เต่ามะเฟือง”มีความยาวกระดองถึง 210 เซนติเมตร หนักถึง 900 กิโลกรัม ลักษณะกระดองเป็นแผ่นหนังหนาสีดำ มีสันนูนตามแนวความยาวจากส่วนหัวถึงท้าย จำนวน 7 สัน ครีบหน้าใหญ่ลักษณะเหมือนใบพาย
เต่ามะเฟือง กินแพลงก์ตอน สัตว์กลุ่มเจลาตินัสที่ล่องลอยตามน้ำ เช่น แมงกะพรุน เป็นอาหารหลัก มีการติดตามพฤติกรรมการกินอาหารของเต่ามะเฟืองบริเวณเกาะในประเทศแคนาดา พบว่ากินแมงกะพรุนเฉลี่ยถึง 261-664 ตัวต่อวัน
เต่ามะเฟือง จึงมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะผู้ล่าแมงกะพรุน ช่วยควบคุมปริมาณของแมงกะพรุนไม่ให้มีมากจนเกินไป จนส่งผลต่อประชากรสัตว์น้ำ เนื่องจากแมงกะพรุนกินลูกปลาและตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ
ขอบคุณ ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย